วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระราชประวัติ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (บางกลางหาว) กับนางเสือง มีพระนามเดิมว่า พระราม เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบิดาไปในการสงครามระหว่างสุโขทัย กับเมืองฉอด ทรงช่วยพระบิดาทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระบิดาจึงเฉลิมพระนามให้เป็น “ พระรามคำแหง "

ในช่วงรัชสมัยพ่อขุนบางเมือง ซึ่งเป็นพระเชษฐา พระรามคำแหงทรงเป็นกำลังสำคัญในการรบปราบปรามเมืองชายแดนหลายแห่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

- ทรงขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางกว่ารัชสมัยใดๆ

- ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖

- ทรงส่งเสริมการค้า ทั้งการค้าภายในและการค้าภายนอก เช่น ให้งดเว้นการเก็บจกอบหรือภาษีผ่านด่าน

- ทรงบำรุงศาสนา เช่น ให้นิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชมาเป็นพระสังฆราช

และริเริ่มการนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมในวันพระ

- ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ผู้เดือดร้อนมาสั่นกระดิ่ง ถวายฎีกาได้ ให้ทายาทมีสิทธิได้รับมรดก

จากพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป เป็นต้น

- ทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐใกล้เคียง ได้แก่ ทรงเป็นพระสหายกับพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา

พญางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าฟ้ารั่ว แห่งอาณาจักรมอญและทรงเป็นรัฐบรรณาการกับจีน

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)

พระราชประวัติ

พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรม-ราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชา ๑ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทและพระราชนัดดา(หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๐ แต่ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัยที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๖๖ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ในคติธรรมราชา ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์ หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าพระองค์มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี ได้แก่ วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

- การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป

- พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมสุโขทัยให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้

- ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก

- ทรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่างๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมา คือ พระมหาธรรมราชาที่สอง ปีสวรรคตของกษัตริย์ พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง พ.ศ. ๑๙๙๔ พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ได้แก่ พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง พ.ศ. ๑๙๙๘ เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐาธิราช)

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๐๗๒ ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ โปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา นับเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ไทยจึงเริ่มเรียนรู้ศิลปวิทยาของชาวตะวันตกโดยเฉพาะด้านการทหาร ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ตำราพิชัย-สงครามของไทยได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ทรงให้ทำสารบัญชี คือ การตรวจสอบจัดทำบัญชีไพร่พลทั้งราชอาณาจักร นับเป็นการสำรวจสำมะโนครัวครั้งแรก โดยทรงตั้งกรมสุรัสวดีให้มีหน้าที่สำรวจและคุมบัญชีไพร่พล

ทางด้านศาสนา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ไว้ในเขตพระราชฐานและให้หล่อ พระศรีสรรเพชญ์ สูง 8 วา หุ้มทองคำ ไว้ในพระมหาวิหารของวัดด้วย ในรัชสมัยนี้อยุธยาและล้านนายังเป็นคู่สงครามกันเช่นเดิมเนื่องจากกษัตริย์ล้านนา คือ พระเมืองแก้ว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) พยายามขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ จนถึง พ.ศ. ๒๐๖๕ มีการตกลงเป็นไมตรีกัน สงครามจึงสิ้นสุดลง

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์สุโขทัยกับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี เพราะพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้ ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมเป็นเวลา ๗ ปี จน พ.ศ. ๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี และอนุญาตให้พระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและมีตำแหน่งอุปราช ระหว่างนั้นทรงทำสงครามกับเขมรและพม่า เพื่อป้องกันอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนี้จึงคิดกำจัดพระนเรศวร แต่พระองค์ทรงทราบจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลา ๑๕ ปี หลังจากประกาศอิสรภาพก็ทรงทำสงครามกับพม่าหลายครั้งและได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้เป็นกำลังได้มาก ต่อมาในพ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระธรรมราชาสวรรคต พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระราชภารกิจของพระองค์ ได้แก่ การทำศึกสงคราม โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญ คือ สงครามยุทธหัตถี ที่ทรงรบกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและถือเป็นพระเกียรติสูงสุด เป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์ แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้ หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕๐ ปี กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากพม่าอีก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งล้านนา ล้านช้าง ไทใหญ่ และกัมพูชา รวมถึงพม่า ครั้งสุดท้าย คือ การเดินทัพไปตีเมืองอังวะ ซึ่งพระองค์ประชวร และสวรรคตที่เมืองหาง ใน พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กอบกู้เอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวไทยจึงยกย่องพระองค์ให้เป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระราชประวัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕ เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์ การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ พระองค์มีแม่นม ๒ คน คอยดูแลอภิบาล คือ เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198 พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์ และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง ใน พ.ศ. ๒๑๙๙ ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ แต่คนทั่วไปนิยมเรียก สมเด็จพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ



- การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ

- การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง

- การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม หนังสือที่แต่งในสมัยนี้ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลี-สอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ เพลงพยากรณ์กรุงเก่า เพลงยาวบางบท รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ คือ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น ยุคทองแห่งวรรณกรรม ของไทยยุคหนึ่ง

- การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓ และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย

- ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ พระบิดามีพระนามเดิมว่า ทองดี พระมารดาชื่อ หยก

เมื่อทรงมีพระชันษา ๒๑ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ๓ เดือน เมื่อลาสิกขาก็ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงได้รับตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ประจำเมืองราชบุรี พระองค์ทรงมีความชำนาญในการรบอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานปูนกำเหน็จความดีความชอบให้เลื่อนเป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราชว่าที่สมุหนายก เจ้าพระยาจักรี และในที่สุดได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม เมื่อทรงตีได้เวียงจันทร์ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากเมืองจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย ต่อมาเกิดเหตุจลาจลได้สำเร็จ ข้าราชการและประชาชนจึงอัญเชิญเป็นพระมหากษัตริย์แทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักการทหารที่ยอดเยี่ยม ทรงแต่งตั้งให้เจ้านายที่เคยผ่านราชการทัพศึกมาทำหน้าที่ช่วยในการปกครองบ้านเมืองโปรดเกล้าฯ

- ให้ชำระกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยของบ้านเมือง คือ กฎหมายตราสามดวง

- รวมถึงการชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์อันเป็นเครื่องส่งเสริมความมั่นคงของกรุงรัตนโกสินทร์

- นอกจากนี้พระองค์ยังคงทรงส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ ทั้งด้านวรรณกรรมที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ โดยพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอุณรุท บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องดาหลัง เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง นอกจากด้านวรรณกรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงส่งเสริมศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และนาฏกรรม

- ภายหลังที่ครองกรุงรัตนโกสินทร์เพียง ๓ ปี ได้เกิดศึกพม่ายกทัพมาตีเมืองไทย พระองค์ทรงจัดกองทัพต่อสู้จนทัพพม่าแตกพ่าย ยังความเป็นเอกราชให้กับแผ่นดินไทยมาจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย เป็น มหาราช อีกพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและทรงเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ที่ปกครองบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขจวบจนปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงปรึกษายกราชสมบัติให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชตามราชประเพณีก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน จึงได้ดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปถึง ๒๖ พรรษา ทำให้พระองค์มีเวลาทรงศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงทราบเหตุการณ์โลกภายนอกอย่างกระจ่างแจ้ง ทั้งยังได้เสด็จธุดงค์จาริกไปนมัสการปูชนียสถานตามหัวเมืองห่างไกล ที่ทำให้ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงมีมติให้อัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

พระราชภารกิจที่สำคัญ



- การทำสนธิสัญญากับอังกฤษ เพื่อแลกกับเอกราชของประเทศ ยอมให้ตั้งสถานกงสุลและมีสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขต ยอมเลิกระบบการค้าผูกขาดเป็นการค้าเสรี เก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยชักสาม

- ทรงปรับปรุงการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีการตั้งข้าหลวงปักปันพระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันตกร่วมกับอังกฤษ ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาสำรวจทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันออก จ้างนายทหารยุโรปมาฝึกสอนวิชาทหารแบบใหม่ ทรงให้ต่อเรือกลไฟขึ้นใช้หลายลำและผลจากการทำสัญญากับอังกฤษทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมาก

- พระองค์จึงขยายพระนครออกไปทางทิศตะวันออก ได้มีการขุดคลองและสร้างถนนขึ้นมากมาย เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร

- ได้เกิดกิจการแบบตะวันตกขึ้นหลายอย่าง เช่น ใช้รถม้าเดินทาง มีตึกแบบฝรั่ง มีโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งโรงกษาปณ์ ฯลฯ - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะทรงเห็นว่าไม่มีผลต่อกิจการแผ่นดิน

- พระองค์ได้ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นเกือบ 500 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เต็มไปด้วยมนุษยธรรม

- พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงยอมรับวิชาการทางตะวันตกมาใช้ เช่น การถ่ายรูป การก่อสร้าง และงานเครื่องจักร เป็นต้น ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์ คือ ทรงคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๑๐.๓๒ นาฬิกา เวลาดวงอาทิตย์มืดเต็มดวง คือ ๖ นาที ๔๖ วินาที และเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

ในการเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้นทำให้พระองค์ประชวรด้วยไข้จับสั่นอย่างแรง และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา รวมเวลาครองราชย์ได้ ๑๗ ปีเศษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เสวยราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑

ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงบรรลุนิติภาวะ พระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง ๔๒ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
เพื่อให้ไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศและรอดพ้นจากภัยจักรวรรดินิยมที่กำลังคุกคามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ขณะนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาและปรับปรุงประเทศทุกด้าน เช่น

การปกครอง

ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ตามอย่างตะวันตก แยกการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง แบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ การปกครองส่วนภูมิภาคโดยระบบเทศาภิบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล กฎหมายและการศาล

ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบศาลยุติธรรม เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก ยกเลิกจารีตนครบาล

ที่ใช้วิธีโหดร้ายทารุณในการไต่สวนคดีความ ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย การปรับปรุงกฎหมายและการศาลนี้เป็นลู่ทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในภายหลัง

สังคมและวัฒนธรรม

ทรงยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ ให้ประชาชนมีอิสระในการดำรงชีวิต ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา

การเงิน การธนาคารและการคลัง

ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยมากขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงให้ออกใช้ธนบัตรและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนเป็นครั้งแรก ทรงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาและสนับสนุนให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น ในด้านการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก และปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น

สาธารณูปโภค

ทรงให้สร้างถนนเพิ่มเติม ขุดคลองใหม่และลอกคลองเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก ทรงริเริ่มให้จัดกิจการสาธารณูปโภคหลายอย่างขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น รถไฟ รถราง โทรเลข ไปรษณีย์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา การ

แพทย์และการสาธารณสุข

ทรงปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น ตั้งโรงพยาบาลวังหลัง (ศิริราช) สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) กรมสุขาภิบาล โรงเรียนสอนแพทย์ โรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล เป็นต้น

การศึกษา

มีการสร้างโรงเรียนหลวง เพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรและทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่างประเทศ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อฝึกคนให้มีความรู้สำหรับเข้ารับราชการ

การศาสนา

โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ จัดตั้งสถานศึกษาสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย และให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก

การทหาร

ทรงปรับปรุงหน่วยทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ทันสมัย ตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงกลาโหม ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายเรือ และตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้เป็นครั้งแรก

ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากในขณะนั้นคนไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ยังมีน้อย รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและรับราชการเป็นจำนวนมาก ส่งวนใหญ่เป็นชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก ที่เป็นชาวตะวันออกก็มีอยู่บ้าง เช่น ญี่ปุ่น ลังกา ปรากฏว่าชาวต่างประเทศที่จ้างมาทำงานได้ผลดีสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา เจ้าพระยานอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ โดยได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ของอังกฤษและเกาะชวาอาณานิคมของฮอลันดา ต่อมาเสด็จประพาสอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทรงนำความเจริญของดินแดนเหล่านี้มาประกอบในการพัฒนาประเทศไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๑ เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๐ ประเทศ เป็นผลดีต่อฐานะของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ๒ - ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ และรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ ในโอกาสเดียวกันทรงได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับประเทศต่าง ๆ ด้วย แม้ว่ารัชกาลที่ ๕ จะทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้าน และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรอดพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง ดังเช่นเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นปะทะกันที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เป็นต้น รัชกาลที่ ๕ ต้องทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช อันหมายถึงว่า ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ พรรษาแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นของโลกทางสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร

วิถีชีวิตคนไทยโบราณ

บรรยากาศของเมืองบางกอก เมื่อ ๑๔๗ ก่อนนั้น งดงามและเชื่องช้า ในสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าว
ผู้คนชาวสยาม ยังเป็นที่แปลกตาของผู้พบเห็นจากต่างถิ่น
ชายไว้ผมเป็นกระจุกอยู่กลางศีรษะและนุ่งผ้าผืนเดียว ไม่สวมเสื้อหมวกและรองเท้า
หญิงไว้ผมไม่ต่างจากชาย เพียงแต่มีจอนยาวข้างหู มีผ้าผืนเล็กๆปิดหน้าอก
การแต่งกายของชาวบ้านเป็นแบบง่ายๆ เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนจัด
มีข้อห้ามอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ให้ประชาชนใส่ผ้าที่มีลวดลายสวยงามเหมือนอย่างชนชั้นสูง

เนื่องจากแม่น้ำเป็นสายเลือดสำคัญของชาวสยามในยุคนี้ ดังนั้นบ้านเรือนจึงเต็มไปด้วยเรือนแพนับพันๆหลัง ถ้าไม่ใช่เรือนแพก็จะเป็นเรือนไม้ไผ่ปลูกหยาบๆ อยู่ริมน้ำเช่นกัน โดยในสมัยนั้นประชาชนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูก บ้านทรงไทย เพราะเป็นลักษณะบ้านของเชื้อพระวงศ์และขุนนาง เท่านั้น

ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ห่างจากพระราชวัง เป็นที่ตั้งของ Super market ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น เสียงพ่อค้าแม่ขายร้องขายของกันเซ็งแซ่ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ที่นี่มีทุกอย่างทั้งของสดของแห้งที่บรรทุกมากับเรือ คนทุกระดับชั้นจะมาพบแสดงตัวกันที่นี่ ทั้งที่มาซื้อของ มาพบปะกัน รวมถึงการเล่นการพนัน สนธิสัญญาต่างๆที่รัฐบาลสยามทำกับชาติตะวันตกทำให้รัฐบาลเสียรายได้เป็นจำนวนมาก การพนันจึงเป็นรายได้ทดแทนที่รัฐบาลยอมรับด้วยความยินดี

ตลาดจึงเป็นตัวแทนที่ดี ในการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามในยุคนั้น เรียกว่า ที่นี่คือโรงละครโรงใหญ่ของชาวสยามในยุคนั้นก็คงไม่ผิดมากนัก หนำซ้ำยังเป็นเครื่องวัดความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ตลาดจึงอยู่ในสายตาของนักประเมินคุณค่า “เมืองขึ้น” มากกว่าที่อื่นใด ตรงข้ามกับตลาดแห่งนี้คือ ‘Landmark’ ของบางกอก พระเจดีย์สูงใหญ่ที่สร้างเสร็จเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาในรัชกาลก่อน (เจดีย์วัดอรุณ) บริเวณรายรอบของพระเจดีย์องค์นี้คือที่ตั้งของบ้าน ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดของสยาม หรือจะเรียกให้ง่ายก็คือ ‘หมู่บ้านรัฐบาล’ นั่นเอง

จากฝั่งแม่น้ำมองเข้ามาทางทิศตะวันออกจะเห็นหอนาฬิกาได้อย่างเด่นชัด นั่นคือ หมู่พระมหามณเฑียร ที่ประทับของ ‘คิงมงกุฎ’ (ร. ๔) องค์ประมุขของประเทศ แม้จะมีชาวสยามไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่มีนาฬิกาซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับมากกว่าใช้ดูเวลา แต่หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างเสร็จก่อน บิกเบน ในกรุง ลอนดอนหลายปีทีเดียว และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ ‘คิงมงกุฎ’ แห่งสยามพระองค์นี้ ทรงคำนวณเวลามาตรฐาน Bangkok meantime เป็นเวลาส่วนตัวของเราเอง ไว้ก่อนที่โลกจะมีเวลามาตรฐาน กรีนิช อยู่หลายสิบปีทีเดียว

ตอนนั้นลองติจูดของเราก็คือลองติจูดที่ 0 องศา ไม่ใช่ 105 องศาตะวันออกอย่างทุกวันนี้ เราถือว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คือเวลาเราจะไปไหนก็วัดจากเราเป็น 0 องศา แต่เราก็ต้องเปลี่ยนเพราะกรีนนิชมันใหญ่กว่า มันคืออังกฤษ แต่สิ่งนี้ยังไม่ได้ทำให้ชาวสยามหลุดพ้นไปจากการเป็นคนป่าเถื่อนอยู่ดี

ภายในพระบรมมหาราชวัง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเคารพสูงสุดของชาวสยาม เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ดำเนินต่อเนื่องมาหลายร้อยปี เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยา ความเชื่อ ประเพณีอันงดงามไว้ได้อย่างไม่เสื่อมสูญ ที่นี่เป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง แต่เป็นโลกลึกลับของคนภายนอก และเป็นกำแพงสูงสำหรับคนที่อาศัยอยู่ภายใน พระมเหสี พระธิดาและพระราชโอรสที่ยังเด็ก รวมถึงเหล่าพระสนมนางในของพระมหากษัตริย์ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จนกลายเป็น ‘หมู่บ้านในนิทาน’ ของบุคคลภายนอกที่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส

ทั้งนี้ พระราชฐานชั้นใน อันเป็นที่ประทับของฝ่ายใน ประกอบไปด้วย ตำหนักที่ประทับของพระมเหสีเทวีและพระราชธิดา เรือนที่อยู่ของเจ้าจอม เรือนแถวของพนักงานชั้นผู้ใหญ่ และแถวเต๊ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพนักงาน ข้าหลวง โดยบรรดาเจ้าจอมและนางใน จะมีกิจกรรมต่างๆทำร่วมกันอาทิเช่น การร้อยมาลัย การทำเครื่องหอม การปักผ้า เป็นต้น ฉะนั้นภายในพระราชฐานจึงเป็นอีกโลกหนึ่งของผู้หญิงชั้นสูงของสยาม เป็นโรงเรียนอบรมบ่มนิสัย สอนวิชาการต่างๆที่หญิงสยามไม่มีโอกาสได้เรียนเมื่ออยู่โลกภายนอก ที่นี่ จึงเป็น ‘ความใฝ่ฝัน’ ของบรรดาพ่อแม่ที่มีลูกสาวทุกคน ที่ต้องการให้ลูกสาวได้มาอยู่ในที่แห่งนี้ ด้วยเหตุที่ใครก็ตามได้เข้ามาอยู่ ณ ที่นี่ เมื่อกลับออกไปสู่โลกภายนอกอีกครั้ง จะได้รับการยกย่องจากสังคมภายนอกว่าเป็นหญิงมีสกุล เป็น ‘สาวชาววัง’ ผลก็คือเธอจะมีอนาคตดีกว่าหญิงสยามทั่วไป


ด้านการสัญจรของชาวสยามส่วนใหญ่มักจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก ส่วนการสัญจรทางบกนั้นมักไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากว่าสภาพพื้นที่เป็นที่รกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ จนมาถึงสมัยที่มีการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญตามประเทศทางตะวันตก คือในช่วยรัชกาลที่ 4-5 เนื่องจากทรงเห็นความสำคัญของการสัญจรทางบก จึงได้มีการสร้างถนนหนทางในพระนครขึ้นหลายสาย ทำให้การสัญจรทางบกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนมากขึ้นตามไปด้วย การสัญจรทางบกในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีรถราสะดวกสบายเหมือนในสมัยนี้นั้น การเดินทางทำได้โดยการใช้ เกวียน รถม้า และรถลาก หรือที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า ‘รถเจ๊ก’ เพราะส่วนใหญ่คนที่มารับจ้างลากรถเป็นคนจีนนั่นเอง

ส่วนเรื่องอาหาร คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก ทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวหรืออาหารเสริมอื่นๆ ก็มักเป็นสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ ในอดีตปลาเป็นอาหารประเภทเนื้อที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด แปรรูปได้หลายอย่าง นอกจากนั้นผักและผลไม้ก็ยังให้บริโภคมากมาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาในรูปของการค้าขาย หากแต่มีไว้กินกันในครอบครัว หรือแบ่งปันกันในหมู่ญาติมิตรและแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนไม่มี อาหารที่ทุกบ้านจะต้องมีติดครัวประจำบ้าน คือ ‘เครื่องบริโภค’ ได้แก่ ข้าว ปลา ปู กุ้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กะปิ น้ำปลา พริก หอม กระเทียม ซึ่งรสชาติอาหารของคนไทยจะมี 2 แบบ คือรสจืดแบบคนจีนและรสเค็มปนเผ็ดแบบคนไทย

ทั้งนี้การกินของคนไทย ในมุมมองของชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า คนไทยอดออมและไม่พิถีพิถันในเรื่องอาหารการกินเลย ยิ่งเมื้อเปรียบเทียบกับชาวตะวันตกซึ่งยึดถืออาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนต่างชาติจะมองว่า คนไทยกินน้อยและกินอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณประโยชน์ แถมยังรังเกียจในบางครั้ง ที่คนไทยกินปลาร้า แมลง หนู หรือสัตว์แปลกๆที่ไม่เคยเห็น แต่ก็เป็นวิถีชีวิตของพวกไพร่ที่พบได้ทั่วไปในสยาม

การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒธรรมไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนไทยทุกคนมีวิธีการ ดังนี้
1. ศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งที่มีการรวบรวมไว้แล้วและยังไม่ได้ศึกษา เพื่อทราบความหมาย และความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมรดกของไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งความรู้ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต เพื่อให้เห็นคุณค่า ทำให้เกิดการยอมรับ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ต่อไป
2. ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนและตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญ ของวัฒนธรรม ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้การรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4. ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการใช้ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติ และมีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
6. จัดทำระบบเครื่อข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ สามารถเลือกสรร ตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตทั้งนี้สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย

การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน

2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย

3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม

4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ

6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ

วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

การติดต่อกับชาวต่างชาติของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ มีผลต่อสังคมไทยหลายด้าน วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยวัฒนธรรมบางอย่างได้ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างรับมาใช้โดยตรง

1. วัฒนธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมไทยมีมาตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรของคนไทย เช่น สุโขทัย ล้านนา ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมที่รับจากอินเดีย จีน เปอร์เซีย เพื่อนบ้าน เช่น เขมร มอญ พม่า โดยผ่านการติดต่อค้าขาย การรับราชการของชาวต่างชาติ การทูต และการทำสงคราม
สำหรับตัวอย่างอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกที่มีต่อสังคมไทยมีดังนี้
1. ด้านอักษรศาสตร์ เช่น ภาษาไทยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากภาษาขอม รับภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจากหลายทางทั้งผ่านพระพุทธศาสนา ผ่านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย เขมร นอกจากนี้ ในปัจจุบันภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น
2. ด้านกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมายอินเดีย ได้แก่ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยรับผ่านมาจากหัวเมืองมอญอีกต่อหนึ่ง และกลายเป็นหลักของกฎหมายไทยสมัยอยุธยาและใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
3. ด้านศาสนา พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากแว่นแคว้นโบราณ เช่น ทวารวดี หริภุญชัยได้นับถือพระพุทธศาสนา หรือสุโขทัย รับพระพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชและได้ถ่ายทอดให้แก่อาณาจักรอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยตลอดมา นอกจากนี้ คนไทยยังได้รับอิทธิพลในการนับถือศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวมุสลิมนำมาเผยแผ่ รวมทั้งคริสต์ศาสนาที่คณะมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
4. ด้านวรรณกรรม ในสมัยอยุธยาได้รับวรรณกรรมเรื่องรามเกรียรติ์ มาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย เรื่องอิเหนาจากชวา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมจีน เช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว วรรณกรรมของชาติอื่น ๆ เช่น ราชาธิราชของชาวมอญ อาหรับราตรีของเปอร์เซีย เป็นต้น
5. ด้านศิลปวิทยาการ เช่น เชื่อกันว่าชาวสุโขทัยได้รับวิธีการทำเครื่องสังคโลกมาจากช่างชาวจีน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ศรีลังกา
6. ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยสมัยก่อนนิยมกินหมากพลู รับวิธีการปรุงอาหารที่ใส่เครื่องแกง เครื่องเทศจากอินเดีย รับวิธีการปรุงอาหารแบบผัด การใช้กะทะ การใช้น้ำมันจากจีน ในด้านการแต่งกาย คนไทยสมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนแบบชาวอินเดีย เป็นต้น

2. วัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
ไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะแรกเป็นความก้าวหน้าด้านการทหาร สถาปัตยกรรม ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ดัวอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยที่สำคัญมีดังนี้
1. ด้านการทหาร เป็นวัฒนธรรมตะวันตกแรก ๆ ที่คนไทยรับมาตั้งแต่อยุธยา โดยซื้ออาวุธปืนมาใช้ มีการสร้างป้อมปราการตามแบบตะวันตก เช่น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหาร มีการตั้งโรงเรียนนายร้อย การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก
2. ด้ารการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง เช่น พระอนุชาและขุนนางได้เรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงจ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษและความรู้แบบตะวันตกในราชสำนัก
ในสมัยรัชการลที่ 5 มีการตั้งโรงเรียนแผนใหม่ ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นมาจัดการศึกษาแบบใหม่ ทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศต่าง ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับและการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ด้านวิทยาการ เช่น ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเริ่มในสม้ยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งโรงพยาบาล โรงเรียนฝึกหัดแพทย์และพยาบาล ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้เป็นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน
ด้านการพิมพ์ เริ่มจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387 ชื่อ "บางกอกรีคอร์เดอร์" การพิมพ์หนังสือทำให้ความรู้ต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น ในด้านการสื่อสารคมนาคม เช่น การสร้างถนน สะพาน โทรทัศน์ โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป รถยนต์ รถไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก
4. ด้านแนวคิดแบบตะวันตก การศึกษาแบบตะวันตกทำให้แนวคิดทางการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐแพร่เข้ามาในไทย และมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ วรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากก็ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการประพันธ์จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคมไทย เช่น การเข้าใจวรรณกรรมรูปแบบนวนิยาย เช่น งานเขียนของดอกไม้สด ศรีบูรพา
5. ด้านวิถีการดำเนินชีวิต การรับวัฒนธรรมตะวันตกและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารแทนการใช้มือ การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น การใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกหรือปรับจากตะวันตก การปลูกสร้างพระราชวัง อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก ตลอดจนนำกีฬาของชาวตะวันตก เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ เข้ามาเผยแพร่ เป็นต้น

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้วัฒนธรรมไทยในยุคนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อยุธยาให้กลับเจริญรุ่งเรือง หลังจากประสบกับวิกฤตการณ์สงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่ามาแล้ว

สภาพทางสังคมของไทยตั้งแต่อดีต ได้ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาด้วย ศิลปกรรมและวรรณกรรมต่างๆ ที่บรรจงสร้างด้วยความประณีตก็เกิดจากแรงศรัทธาทางศาสนาทั้งสิ้น

1. การทำนุบำรุงทางด้านพระพุทธศาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325-2352) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ใน พ.ศ.2331 โดยใช้เวลาประชุมกันประมาณ 5 เดือน
ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา เหมือนดังที่เคยทำกันในสมัยอยุธยา คือ ทำบุญกันทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน สัตว์ที่เคยถูกฆ่าเป็นอาหารนั้นโปรดให้ปล่อยให้หมดภายใน 3 วัน มิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเด็ดขาด
ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์ ตลอดจนทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและวัดวาอารามมากมาย ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ได้มีโอกาสเผยแผ่ในประเทศไทยโดยพวกมิชชันนารี ทำให้คนไทยบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันในวงการพระพุทธศาสนาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปข้อวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏก โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2370-2394) ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปครั้งนั้น จนกระทั่งได้ทรงตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย"
2. การทำนุบำรุงศิลปกรรม

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบรรดาศิลปกรรมของไทยซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสนพระทัยมากนั้น ได้แก่ บรรดาตึกรามต่างๆ ที่สร้างขึ้น ล้วนมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก ทั้งโดยปูนและโดยไม้แกะสลัก ตึกที่ทรงให้จัดสร้างขึ้นส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น
รัชกาลที่ 1 ทรงสนพระทัยทางด้านวรรณคดี ดังนั้นในสมัยนี้จึงมีบทวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ นอกจากนี้ก็มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น หนังสือสามก๊ก ,ราชาธิราช เป็นต้น

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 2 ทรงสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่างๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (แต่สร้างสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 3) พระปรางค์จะตกแต่งด้วยถ้วยและชามจีนซึ่งทุบให้แตกบ้าง แล้วติดกับฝาทำเป็นลวดลายรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการแกะสลัก ดังจะเห็นได้จากประตูวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น
รัชกาลที่ 2 โปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะและท่ารำต่างๆ โดยพระองค์เอง พระองค์โปรดให้มีพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นเรื่องเดิมและเรื่องใหม่ หรือเอาเรื่องเดิมมาแต่งขึ้นใหม่ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มีทั้งหมด 7 เรื่อง เรื่อง"อิเหนา" เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เองตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีก 6 เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้กวีท่านอื่นๆ ร่วมงานด้วย

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 การผลิตงานทางด้านศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดว่ามีลักษณะเยี่ยมยอดในวงการศิลปะของไทยไม่แพ้ในสมัยอื่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมุ่งซ่อมแซมและปรับปรุงปราสาทมากกว่าจะสร้างใหม่ โดยระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และขยายเขตวัดวาอารามมากมาย ทรงสร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น 5 วัด ให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางสร้างอีก 6 วัด วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ได้แก่ วัดเทพธิดาราม,วัดราชนัดดา,วัดเฉลิมพระเกียรติ์,วัดบวรนิเวศวรวิหาร,วัดบวรสถาน,วัดประยูรวงศ์,วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างมากมายที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมทางศาสนาของไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระสถูป พระมลฑป หอระฆัง เป็นต้น โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบี้องสี ผนังก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา โบสถ์ขนาดใหญ่และสวยงามที่สร้างในรัชกาลนี้คือ โบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งสร้างแบบสามัญ ส่วนโบสถ์วัดบวรนิเวศวรวิหารสร้างเป็นแบบมีมุขยื่นออกมาทั้งสองข้างทางด้านปลาย
สถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา คือ พระมณฑป ศาลา หอระฆัง และระเบียงโบสถ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นงานที่ดีที่สุด คือ ระเบียงรอบพระวิหารที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีหน้าบันแกะสลักไว้อย่างงดงาม

ผลงานทางสถาปัตยกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้ก่อสร้างไว้บริเวณวัด และจัดอยู่ในจำพวกสิ่งก่อสร้างปลีกย่อยคือ เรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐ รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อว่าในอนาคตเมื่อไม่มีการสร้างเรือสำเภากันอีกแล้ว ประชาชนจะได้แลเห็นว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร วัดที่พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างสิ่งอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ คือ "วัดยานนาวา"

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพเขียนแบบไทยต่างๆ ส่วนมากไม่โดดเด่น ที่เขียนขี้นมาส่วนใหญ่เพื่อความมุ่งหมายในการประดับให้สวยงามเท่านั้น ส่วนงานช่างแกะสลักในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามากกว่างานช่างในสาขาจิตรกรรม โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องบันดาลใจอันสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดผลงานทางด้านศิลปะประเภทนี้

ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ดังเช่น หนังสือเรื่อง "มลินทปัญญา" เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังไม่โปรดปรานนักแสดงหรือนักประพันธ์คนใดเลย

กล่าวโดยสรุป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำนุบำรุงและฟื้นฟูทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และการทำนุบำรุงก็กระทำโดยวิธีรักษารูปแบบเดิมไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองมาก

กลับหน้าแรก ด้านบน


สภาพสังคมและศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4

1. การปรับปรุงด้านสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4
เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่ไทยเริ่มปรับตัวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมตะวันตกเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา รัชกาลที่ 4 ก็ทรงดำเนินการปรับปรุงทางด้านสังคมควบคู่ไปด้วย ดังนี้

อนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เพื่อให้บรรดาไพร่ที่มีอยู่ใช้แรงงานของตนไปทำงานส่วนตัวได้
ออกประกาศห้ามบิดามารดาหรือสามีขายบุตรภรรยาไปเป็นทาสโดยที่เจ้าตัวไม่สมัครใจ เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับเด็กและสตรี ถ้าจะต้องถูกบังคับในเรื่องดังกล่าว
ให้สตรีที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีสิทธิเลือกสามีได้ โดยบิดามารดาจะบังคับมิได้
อนุญาตให้บรรดาเจ้าจอมกราบถวายบังคมลาไปอยู่ที่อื่น หรือไปแต่งงานใหม่ได้
โปรดเกล้าฯ ให้สตรีในคณะผู้สอนศาสนาคริสต์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่สตรีในราชสำนักเป็นเวลาประมาณ 3 ปี
ใน พ.ศ.2408 โปรดเกล้าฯ ให้นางแอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีชาวอังกฤษเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและธิดา โดยตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพราะทรงเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ทรงจัดส่งข้าราชการไปศึกษาและดูงานในต่างประเทศเพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยดังเช่น ทรงส่งหวาด บุนนาค บุตรพระอภัยสงครามไปฝึกหัดวิชาทหารเรือ ส่งเนตร บุตรพระยาสมุทบุรารักษ์ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศสิงค์โปร์ และส่งพร บุนนาค ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
2. การปรับปรุงทางด้านวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 4 (ยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย)
ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริง กับอังกฤษในปี 2398 แล้ว การติดต่อกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับชาติตะวันตกได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ทำให้วัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงตามแบบตะวันตก แต่บางครั้งก็มีการส่งเสริมให้วัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมดำรงอยู่ต่อไป

การส่งเสริมด้านศิลปะ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงเปิดความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องานทางด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน การทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของไทยก็เพิ่มพูนมากขึ้นไปด้วย

รัชกาลที่ 4 ทรงซื้อและโปรดเกล้าฯ ให้ทำการต่อเรือกลไฟตามแบบตะวันตกหลายลำ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการค้าขาย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เรือจักรสำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรับเรือพายพระที่นั่งอันงดงามมาจากรัชกาลก่อนๆ นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือขึ้นอีกลำหนึ่ง โดยพระราชทานนามว่า "อนันตนาคราช" ที่หัวเรือทำเป็นพญานาคเจ็ดเศียร ซึ่งยังคงรักษาเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในพระบรมมหาราชวัง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้นใหม่หลายอาคาร ทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ 5 วัดในกรุงเทพ และโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมอีก 20 วัด นอกจากนี้ยังทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ในต่างจังหวัดอีกด้วย เช่น ที่เพชรบุรีทรงสร้างวัดแบบไทย แต่พระราชวังที่ประทับซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกลับสร้างเป็นแบบฝรั่งและมีหอดูดาว ในกรุงเทพฯ ก็ทรงสร้างวังตามแบบศิลปะตะวันตก เช่น วังสราญรมย์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นครอบพระเจดีย์โบราณที่พระองค์เสด็จธุดงค์ไปพบเข้าที่นครปฐมเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ แต่การบูรณะก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ไม่ประสบผลสำเร็จในรัชกาลนี้ แต่เพิ่งมาประสบผลสำเร็จในรัชกาลที่ 5

3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ มีดังนี้

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งไม่เคยปรากฏมาในรัชกาลก่อนๆ กับทั้งยังทรงออกประกาศให้ทราบทั่วกันว่าในการเข้าเฝ้านั้น ชาวต่างประเทศสามารถแสดงความเคารพบต่อพระองค์ได้ตามธรรมเนียมประเพณีนิยมของเขา เช่น ให้ชาวตะวันตกยืนตรงถวายคำนับได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับให้หมอบกราบเหมือนดังที่พวกฑูตฝรั่งต้องปฏิบัติตอนเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงแก่ชาวต่างประเทศ พร้อมทั้งแจกของที่ระลึกอีกด้วย สำหรับคนไทยนั้นยังคงโปรดเกล้าฯ ให้หมอบกราบตอนเข้าเฝ้าต่อไปตามประเพณีนิยมเดิมของไทย แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลง คือ ทรงออกประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อในเวลามาเข้าเฝ้าทุกคน ทั้งนี้เพื่อมิให้ชาวต่างประเทศดูถูกข้าราชการไทยที่ไม่สวมเสื้อว่าเป็นคนป่าเถื่อนดังแต่ก่อน
การเรียกพระนามพระมหากษัตริย์ตามแบบยุโรป รัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงวางระเบียบการเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินให้แน่นอนตามประเพณีนิยมของยุโรป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากประเพณีโบราณ พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จารึกใพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดี" เหมือนกันทุกพระองค์ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระนามตามพระนามเดิมก่อนขึ้นครองราชย์ โดยให้จารึกพระสุพรรณบัฏเมื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยตั้งต้นว่า "พระบามสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์และลงท้ายว่า "พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งคำว่า "จอม" ก็มีความหมายมาจากคำว่า "มงกุฏ" เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ราษฏรเรียกพระนามซ้ำกันแต่ก่อน ประเพณีการเรียกพระนามพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์อย่างแน่นอนลงไปเป็นการเฉพาะพระองค์เช่นนี้ ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามประเพณีเดิม พระมหากษัตริย์จะประทับเป็นองค์ประธาน และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นผู้ถือน้ำ และสาบานตนว่า จะซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม คือ ให้พระมหากษัตริย์เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และกระทำสัตย์ด้วยว่าจะทรงซื่อสัตย์ต่อราษฏรของพระองค์
การจัดให้มีธงประจำชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแบบอย่างการใช้ธงประจำชาติจากสถานกงสุลและเรือพาณิชย์ของชาติต่างๆ ในประเทศไทย พระองค์จึงทรงเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีธงประจำชาติและธงอื่นๆ ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำธงสีแดงที่เคยใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาใช้ โดยใช้พื้นธงเป็นสีแดงล้วนและมีช้างเผือกยืนอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์และธงประจำกองทัพขึ้นด้วย

ภูมิปัญญาไทย

ภูมิปัญญาไทย ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ความสามารถ วิธีการผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนไทย ล้วนมีการทำมาหากินที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ มีผู้นำที่มีความรู้ มีฝีมือทางช่าง สามารถคิดประดิษฐ์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ผู้นำเหล่านี้ เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
1. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
2. ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
3. ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน
4. ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
5. ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
6. ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม

ชูศักดิ์ หาดพรม ครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรปลอดสารพิษแห่งจังหวัดน่าน
คุณสมบัติของผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
ผู้ทรงภูมิปัญญาไทยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ อย่างน้อยดังต่อไปนี้

1. เป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพต่างๆ มีผลงานด้านการพัฒนาท้องถิ่นของตน และได้รับการยอมรับจากบุคคลทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งยังเป็นผู้ที่ใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนาของตนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการดำรงวิถีชีวิตโดยตลอด
2. เป็นผู้คงแก่เรียนและหมั่นศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ผู้ทรงภูมิปัญญาจะเป็นผู้ที่หมั่นศึกษา แสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบ เป็นผู้ลงมือทำโดยทดลองทำตามที่เรียนมา
3. เป็นผู้นำของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่สังคม ในแต่ละท้องถิ่นยอมรับให้เป็นผู้นำ ทั้งผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางราชการ และผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นผู้นำของท้องถิ่นและช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นอย่างดี
4. เป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญาล้วนเป็นผู้ที่สนใจปัญหาของท้องถิ่น เอาใจใส่ ศึกษาปัญหา หาทางแก้ไข และช่วยเหลือสมาชิกในชุมชนของตนและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่ย่อท้อ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและบุคคลทั่วไป
5. เป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ผู้ทรงภูมิปัญญาเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ลงมือทำงานและผลิตผลงานอยู่เสมอ ปรับปรุงและพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากขึ้นอีกทั้งมุ่งทำงานของตนอย่างต่อเนื่อง
6. เป็นนักปกครองและประสานประโยชน์ของท้องถิ่น ผู้ทรงภูมิปัญญา นอกจากเป็นผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนดี จนเป็นที่ยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไปแล้ว ผลงานที่ท่านทำยังถือว่ามีคุณค่า จึงเป็นผู้ที่มีทั้ง "ครองตน ครองคน และครองงาน"
7. มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้เป็นเลิศ เมื่อผู้ทรงภูมิปัญญามีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เป็นเลิศ มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและบุคคลทั่วไป ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักเรียน นิสิต/นักศึกษา โดยอาจเข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือเชิญท่านเหล่านั้นไป เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ได้
8. เป็นผู้มีคู่ครองหรือบริวารดี ผู้ทรงภูมิปัญญา ถ้าเป็นคฤหัสถ์ จะพบว่า ล้วนมีคู่ครองที่ดีที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ให้ความร่วมมือในงานที่ท่านทำ ช่วยให้ผลิตผลงานที่มีคุณค่า ถ้าเป็นนักบวช ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใด ต้องมีบริวารที่ดี จึงจะสามารถผลิตผลงานที่มีคุณค่าทางศาสนาได้
9. เป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญจนได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ผู้ทรงภูมิปัญญา ต้องเป็นผู้มีปัญญารอบรู้และเชี่ยวชาญ รวมทั้งสร้างสรรค์ผลงานพิเศษใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
[แก้ไข] ภูมิปัญญาไทยสามารถจัดแบ่งได้กี่สาขา
จากการศึกษาพบว่า มีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทยไว้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่หน่วยงาน องค์กร และนักวิชาการแต่ละท่านนำมากำหนด ในภาพรวมภูมิปัญญาไทยสามารถแบ่งได้เป็น 10 สาขาดังนี้

1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้
2. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้
3. สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุม
6. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
8. สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถพัฒนา และบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาท และหน้าที่ขององค์การ เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
9. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษาทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้ง ด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรต หนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น
10. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม
ลักษณะความสัมพันธ์ของภูมิปัญญาไทยเป็นอย่างไร
ภูมิปัญญาไทยสามารถสะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกัน คือ

1. ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช และธรรมชาติ
2. ความสัมพันธ์ของคนกับคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคม หรือในชุมชน
3. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดทั้งสิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย
ทั้ง 3 ลักษณะนี้ คือ สามมิติของเรื่องเดียวกัน หมายถึง ชีวิตชุมชน สะท้อนออกมาถึงภูมิปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างมีเอกภาพ เหมือนสามมุมของรูปสามเหลี่ยม ภูมิปัญญาจึงเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตของคนไทย


ภูมิปัญญาไทยช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นได้อย่างไร
พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้ภูมิปัญญาในการสร้างชาติ สร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ประเทศชาติมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงปกครองประชาชนด้วยพระเมตตาแบบพ่อปกครองลูก ผู้ใด ประสบความเดือดร้อนก็สามารถตีระฆังแสดงความเดือดร้อนเพื่อขอรับพระราชทานความช่วยเหลือ ทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อพระองค์ ต่อประเทศชาติร่วมกันสร้างบ้านเรือนจนเจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่น

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญากระทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึกศัตรู และทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยคืนมาได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงใช้ภูมิปัญญาสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และเหล่าพสกนิกรมากมายเหลือคณานับ ทรงใช้พระปรีชาสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง ภายในประเทศ จนรอดพ้นภัยพิบัติหลายครั้ง พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถหลายด้าน แม้แต่ด้านการเกษตร พระองค์ได้พระราชทานทฤษฎีใหม่ให้แก่พสกนิกร ทั้งด้านการเกษตรแบบสมดุลและยั่งยืน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม นำความสงบร่มเย็นของประชาชนให้กลับคืนมา แนวพระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" แบ่งออกเป็น 3 ขั้น โดยเริ่มจาก ขั้นตอนแรก ให้เกษตรกรรายย่อย "มีพออยู่พอกิน" เป็นขั้นพื้นฐาน โดยการพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา ซึ่งเกษตรกรจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยราชการ มูลนิธิ และหน่วยงานเอกชน ร่วมใจกันพัฒนาสังคมไทย ในขั้นที่สอง เกษตรกรต้องมีความเข้าใจในการจัดการในไร่นาของตน และ มีการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางการผลิตและการตลาด การลดรายจ่ายด้านความเป็นอยู่ โดยทรงตระหนักถึงบทบาทขององค์กรเอกชน เมื่อกลุ่มเกษตรวิวัฒน์มาขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะมีศักยภาพ ในการพัฒนาไปสู่ขั้นที่ 3 ซึ่งจะมีอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์กับสถาบันการเงินคือธนาคาร และองค์กรที่เป็นเจ้า ของแหล่งพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิต โดยมีการแปรรูปผลิตผล เช่น โรงสี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผล และขณะเดียวกันมีการจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิต ประจำวัน อันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในสังคม จะเห็นได้ว่ามิได้ทรงทอดทิ้งหลักของความสามัคคีในสังคมและการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งทรง สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ จึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงจัดได้ว่าเป็นสังคมเกษตรที่พัฒนาแล้ว สมดังพระราชประสงค์ที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระสติปัญญา ในการพัฒนาการเกษตรไทยตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์
คุณค่าของภูมิปัญญาไทย
ทางด้านการสร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรี เกียรติภูมิแก่คนไทย

คนไทยในอดีตที่มีความสามารถปรากฏในประวัติศาสตร์มีมาก เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ เช่น นายขนมต้มเป็นนักมวยไทยที่มีฝีมือเก่งในการใช้อวัยวะทุกส่วน ทุกท่าของแม้ไม้มวยไทย สามารถชกมวยไทย จนชนะพม่าได้ถึงเก้าคนสิบคนในคราวเดียวกัน แม้ในปัจจุบันมวยไทยก็ยังถือว่า เป็นศิลปะชั้นเยี่ยม เป็นที่นิยมฝึก และแข่งขันในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ ปัจจุบันมีค่ายมวยไทยทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 30,000 แห่ง ชาวต่างประเทศที่ได้ฝึกมวยไทยจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจ ในการที่จะใช้กติกาของมวยไทย เช่น การไหว้ครูมวยไทย การออกคำสั่งในการชกเป็นภาษาไทยทุกคำ เช่น คำว่า "ชก" "นับหนึ่งถึงสิบ" เป็นต้น ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทย นอกจากนี้ ภูมิปัญญาไทยที่โดดเด่นยังมีอีกมากมาย เช่น มรดกภูมิปัญญาทางภาษาและวรรณกรรม โดยที่มีอักษรไทยเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน วรรณกรรมไทยถือว่าเป็น วรรณกรรมที่มีความไพเราะ ได้อรรถรสครบทุกด้าน วรรณกรรม หลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา ด้านอาหาร อาหารไทยเป็นอาหารที่ปรุงง่าย พืชที่ใช้ประกอบอาหารส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังป้องกันโรคได้หลายโรค เพราะส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกะเพรา เป็นต้น

ยาไทย ภูมิปัญญาไทย
การแพทย์แผนไทย เป็นการรวมศาสตร์เกี่ยวกับบำบัดโรค ทั้งการใช้ยาสมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกและโครงสร้าง โดยอิงกับความ เชื่อทางสังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติ เป็นความรู้ที่ไม่มีเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับหมอรักษาวิธีใดได้ผลก็ใช้วิธีนั้นสืบต่อกันมา

ยาไทยมาจากส่วนผสม 4 ประเภท คือ พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ ธาตุวัตถุ เช่น เกลือสมุทร กำมะถัน ทองคำ ดินปะสิว และจุลชีพ เช่น เห็ด รา โดยแพทย์หรือผู้จ่ายยาต้องรู้ลักษณะ สี กลิ่น รส ชื่อของสิ่งที่นำมาใช้ ประเภทและอาการของโรคอย่างดีก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ นอกจากนี้วิธีการปรุงยาก็มีหลายวิธีด้วยกันตามรูปแบบของยา เช่น กิน อาบ ดื่ม พอก หรือแช่ เป็นต้น


หัวกระทือสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำไปทำเป็นยาเเพทย์เเผนไทย
ยาไทยไม่แพ้ยาฝรั่ง
ปัจจุบันยาไทยเริ่มได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น เนื่องจากมีกระแสกลับสู่ธรรมชาติมากขึ้น ทำให้มียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่สามารถซื้อมากินแก้โรคต่างๆ ด้วยตนเองได้ ซึ่งยาไทยหลายตำรับมีคุณสมบัติโดดเด่น ประสิทธิภาพสูงไม่แพ้ยา ฝรั่ง อย่างน้อยการทำความรู้จักตำรับยาเหล่านี้ไว้บ้างก็น่าจะเป็นตัวช่วย ประจำบ้านที่ดีเหมือนกัน

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บทบาทพระมหากษัตริย์ไทย

บทบาทของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

สถาบันพระมหา กษัตริย์ ( Monarchy or Royal Autocracy )

ความหมายของพระมหา กษัตริย์
ความหมาย ของ “พระมหากษัตริย์” ตามรูปศัพท์ หมายถึง “นักรบผู้ยิ่งใหญ่” คำว่า “มหา” แปลว่า ยิ่งใหญ่และคำว่า “กษัตริย์” แปลว่า นักรบ ถ้าจะถือตามความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและความเข้าใจตามธรรมดาแล้วพระมหา กษัตริย์ก็คือพระเจ้าแผ่นดิน ในภาษาสันสกฤตคำว่า กษัตริย หมายถึง ผู้ป้องกันหรือนักรบ คติที่เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่าเป็นพระมหากษัตริย์นั้นเรารับมาจากคำในภาษา สันสกฤตซึ่งมีความหมายสองนัยคือ คตินิยมแรกจากธรรมเนียมการใช้วรรณะของอินเดียซึ่งถือว่า“กษัตริย์” รวมถึงพวกนักรบด้วย และคติที่สองหมายถึงผู้ปกครองแผ่นดินซึ่งสืบเนื่องมาจากคตินิยมเรื่อง “มหา สมมติ” ซึ่งถือว่ามหาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์
มีคำเรียกพระมหากษัตริย์หลายคำเช่น ราชราชา พระราชา หรือราชัน หมายถึง ผู้ชุบน้อมจิตใจของผู้อื่นไว้ด้วยธรรม จักรพรรดิ หมายถึง ผู้ปกครองที่ปวงชนพึงใจและเป็นผู้มีคุณธรรมสูง และใกล้เคียงกับคำว่า ธรรมราชา หมายถึง ผู้รักษาและปฏิบัติธรรมทั้งเป็นต้นเหตุแห่งความยุติธรรมทั้งปวง คำว่าพระ เจ้าอยู่หัว หมายถึง พระผู้เป็นผู้นำหรือประมุขของประเทศ และคำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” หมายถึงพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดิน(เขตคาม อธิปติ)ซึงเขียนไว้ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่ประกาศในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๓
ไม่ว่าจะเลือกใช้คำใด คำว่า “ราชา” “กษัตริย์” “จักรพรรดิ” โดยความหมายแล้วน่าจะใช้เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ดีในสังคมไทยเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “ในหลวง” “พ่อ หลวง” “พ่อของแผ่นดิน” ความหมายก็คือ เป็นผู้ปกครองที่เปรียบเหมือนพ่ออยู่เหนือเกล้าเหนือชีวิตซึ่งชนชาวไทยมี ความจงรักภักดีชั่วกาลนาน
ความหมายของพระมหากษัตริย์ ในเรื่องการเมืองการปกครองของไทยที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่เดิมมี แนวคิดสองประการคือ ประการแรกถือว่าพระมหากษัตริย์คือ หัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับหมู่คณะ และสำหรับความหมายประการที่สองคือ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในทางการเมืองหรือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดใน การปกครองโดยเฉพาะในยุโรปมีความเชื่อในเรื่องลัทธิเทวสิทธิ์ (Divine right of King) และถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยและมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ประเทศ รวมทั้งมีอำนาจโดยสมบูรณ์ (Absolute)
สำหรับประเทศไทยแนวคิดในเรื่องพระมหากษัตริย์เริ่มปรากฏชัดเจน ในยุคกรุงสุโขทัยโดยใช้คำว่า “พ่อขุน” ราษฎรมีความใกล้ชิดกับองค์พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นเรียกว่าพ่อขุนก็พร้อมที่จะช่วยประชาชน โดยประชาชนที่ร้อนอกร้อนใจก็สั่นกระดิ่งเพื่อร้องขอให้พิจารณาอรรถคดีต่างๆ ได้ ทุกวันพระก็ชักชวนข้าราชบริพารและหมู่เหล่าปวงชนพร้อมใจกันฟังเทศน์รับ ศีลประชาชนใกล้ชิดผู้ปกครอง พ่อขุนใช้หลักครอบครัวมาบริหารรัฐและใช้หลักศาสนาเข้าผูกใจคนให้อยู่ร่วมกัน อย่างปกติสุข ดังนั้นพ่อขุนหรือพระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยนั้นจึงเรียกว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” หมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ประชาชนและเหล่าอำมาตย์เลือกพระองค์ขึ้นปกครองประเทศ อย่างไรก็ดีในช่วงการเปลี่ยนแผ่นดินและศูนย์กลางความเจริญย้ายลงมาทางใต้ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาเริ่มเจริญขึ้น การแพร่ของแนวคิดต่างๆที่อยู่รอบๆอาณาจักรใหม่ทั้งจากชาติตะวันตกที่เข้ามา ค้าขายและชนชาติเขมรหรือขอมก็เข้าสู่แนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์ในช่วงนี้ แนวคิดเรื่องพระมหากษัตริย์จึงมีการผสมผสานหลากหลายขึ้น ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่คนธรรมดาอย่างพ่อขุน แต่เป็นบุคคลที่มีความสามารถเป็นบุคคลที่สร้างชาติรวมแผ่นดิน แนวคิดทั้งของตะวันตกและของเขมร จึงทำให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการปกครองสูงสุดดุจได้รับเทวสิทธิ์และขณะ เดียวกันพระมหากษัตริย์ทรงใช้หลักการปกครองโดยมีหลักศาสนากำกับ เพราะพระมหากษัตริย์มีคติราชประเพณี ทศพิธราชธรรมและทรงมีพระมโนธรรมกำกับ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระมหากษัตริย์ไทยยังทรงอยู่คู่กับราษฎรไทยเสมอมา
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญเกือบจะทุกฉบับรับรองฐานะของพระมหากษัตริย์ เช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. ๒๕๔๙ มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยองค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา จักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ก็เช่นกัน
ฐานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยคือ ทรงเป็นประมุขของประเทศและยังทรงใช้อำนาจอำนาจอธิปไตยทางสภานิติบัญญัติแห่ง ชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
สำหรับรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช ๒๕๕๐ รับรองฐานะของพระมหากษัตริย์ไว้เช่นกันเช่น ในมาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในมาตรา ๓ อธิบายไว้ว่า “อำนาจ อธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” มาตรา ๘ องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัคราสนูปถัมภกคือองค์ประธานในการทำนุบำรุศาสนาทุกศาสนาให้ดำรง อยู่ และในมาตรา ๑๐ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพ ไทย นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นท่านที่ สนใจศึกษาได้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เพิ่มเติม
จากอดีตจน ถึงปัจจุบัน คนไทยเราอยู่และคุ้นเคยกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมากพระมหากษัตริย์ ไทยทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อให้พสกนิกรอยู่เย็นเป็นสุข ท้องถิ่นใดเดือดร้อนทรงพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงพระราชทานฝนหลวง ทรงดับร้อนผ่อนทุกข์เข็ญ ทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ ทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียงให้แก่ปวงชนชาวไทยที่หลงใน โลกวัตถุ ตามกระแสจนกลายเป็นทาสความคิด ทรงปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดของผู้คนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
และใน วโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษาองค์การสหประชาชาติขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “เกียรติยศ เพื่อการพัฒนา” พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงอุทิศพระวรกายและพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแก่ปวงชนชาวไทย ทรงประกอบพระราชกรณียกิจทุกวันทุกเวลาและทุกสถานที่ก็เพื่อปวงชนชาวไทย วันนี้ปวงชนชาวไทยทำอะไร เพื่อพระมหากษัตริย์ของเราพระองค์นี้เต็มศักยภาพของตนเองหรือยัง ดังนั้นในวันที่ ๕ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๕๐ จะเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงเจริญพระ ชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา ท่านนึกได้หรือยังว่าท่านจะทำอะไรถวายในหลวงของเราและถวายท่านตลอดไป ปีนี้ ปี ๒๕๕๒ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนพรรษาเพิ่มขึ้นพระราชกรณียกิจก็เพิ่มมากขึ้นตาม เราคนไทยทำไมจึงทำให้พระมหากษัตริย์ของเราต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างนี้
ความ สำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์
ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันนี้เป็นสถาบันปกครองอันเก่าแก่ที่อยู่คู่กับแผ่นดินไทยมาแต่โบราณ กาล มีการวิวัฒนาการมาตั้งแต่เริ่มรวมชาติรวมแผ่นเดิน ก่อร่างสร้างเมือง ตั้งแต่อดีต จนมาเป็นประเทศชาติทุกวันนี้ก็เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์ยังเป็นสถาบันที่อยู่ในหัวใจของประชาชน เป็นสถาบันที่เคารพ สักการะเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทยทุกๆ คน ผู้ใดหรือใครจะมาล่วงเกินพระราชอำนาจไม่ได้ ในสมัยสุโขทัยสถาบันพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนพ่อของประชาชน ฐานะของพระองค์เป็นพ่อขุนมีความใกล้ชิดประชาชน พอเข้าสมัยกรุงศรีอยุธยาฐานะ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพหรือเป็นเทวดาโดยสมมุติ และทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองทรงเป็นองค์อธิปัตย์สูงสุดในการปกครองบ้าน ปกครองเมือง ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรม โดยมีทศพิธราชธรรมและธรรมะหลักสำคัญต่างๆ ในการปกครองจนทำให้ ไพร่ฟ้าประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ทรงครองราชย์ป้องเมืองทำนุบำรุงบ้าน เมือง ศาสนา และสังคม จวบมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิทรงเสื่อมถอย และสถาบันพระมหา กษัตริย์กลับเป็นที่เคารพสักการะจากประชาชนมากเช่นเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
ประเภทของสถาบันพระ มหากษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท พอสรุปได้ดังนี้
๑. พระ มหากษัตริย์ในระบบฟิวดัล(Feudal Monarchy) คือ การที่สถาบันพระมหา
กษัตริย์มีพระราชอำนาจ เหนือแผ่นดินและเพื่อตอบแทนเหล่าขุนนาง พระมหากษัตริย์ในระบอบนี้จึงให้ ที่ดินเป็นการตอบแทนเพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานของเหล่าขุนนาง เป็นการลด ความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองและขุนนางระดับต่างๆอีกทั้งเป็นการประสาน ประโยชน์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และขุนนางให้การบริหารรัฐเป็นไปโดยสงบ
๒. พระมหากษัตริย์ในลัทธิเทวสิทธิ์ จากลัทธินี้จึงมีความเชื่อว่าสถาบันพระมหา กษัตริย์ เกิดจากอำนาจของพระเจ้า พระมหากษัตริย์จึงเป็นเจ้าชีวิตเป็นเจ้าของแผ่นดินพระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจ อันชอบธรรมโดยโองการของพระเจ้า ในการปกครองประชาชนทุกคนต้องยอมรับและปฏิบัติตนตามโองการของพระเจ้า สถาบัน พระมหากษัตริย์จึงมีอำนาจสมบูรณ์ เราจึงเรียกการปกครองลักษณะนี้ว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่ทั้งนี้การปกครองอยู่บนรากฐาน ของหลักของศีลธรรมอันดีงามที่เป็นแนวปฏิบัติมาแต่โบราณกาล
๓. พระมหากษัตริย์ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แนวคิดนี้เริ่มพัฒนาเมื่อมี ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเข้ามา ทำให้การปกครองเปลี่ยนรูปแบบไป แนวคิดนี้เชื่อในเรื่องปัจเจกบุคคลและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วนในการ ปกครอง และยังเชื่อว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองนั้นเป็นของประชาชนทุกๆ คน ดังนั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองหรือเป็น ประมุขของประเทศ
๓.๒.๓ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย
ประเทศไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว และเท่าที่ ปรากฏในหลักฐานนักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า สังคมไทยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ในการปกครองบ้าน เมืองมาตั้งแต่ครั้งสมัยอาณาจักรสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้น และสถาบันพระมหา กษัตริย์ในสมัยนั้น ก็มีรูปแบบการปกครองที่ใกล้ชิดกับพลเมือง โดยฐานะของพระมหากษัตริย์ในสมัย นั้นมีฐานะเป็นผู้นำที่เรียกทั่วๆไปว่า “พ่อขุน” การ ปกครองจึงเป็นแบบพ่อปกครองลูก และพ่อขุนก็เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในการ ปกครองประเทศ พ่อขุนใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยการที่พ่อขุนเป็นผู้ออกกฎหมาย คำพูดของพ่อขุน เป็นคำสั่ง และในขณะเดียวกันก็เป็นกฎหมายด้วย สำหรับอำนาจบริหารพ่อขุนทำหน้าที่ในการ บริหารอาณาจักรสุโขทัยให้เป็นศูนย์กลางการบริหารอำนาจต่างๆ ดังนั้นอำนาจต่างๆจึงมาจากราชธานีส่วนกลาง และอำนาจตุลาการนั้นพ่อขุนทรงเป็นผู้พิจารณาอรรถคดีต่างๆ และประชาชนคนใดที่มีทุกข์ใจ มีปัญหาใดๆก็เข้ามาสั่นกระดิ่ง ร้องฎีกา ในวันพระพ่อขุนก็จะลงตัดสินคดีความโดยตัวพ่อขุนเอง จะเห็นได้ว่าพ่อขุนเป็น ผู้มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว เป็นผู้มีและผู้ใช้อำนาจอธิปไตยสูงสุดแต่พียงผู้เดียว การปกครองรูปแบบนี้ เรียกว่า การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยอำนาจสูงสุดอยู่ที่คนๆ เดียว แต่พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถทำอะไรที่ผิดทำนองคลอง ธรรมได้ อย่างไรก็ดีในสมัยนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอำนาจใดๆ มาจำกัดอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในทางปฏิบัติสถาบันพระมหากษัตริย์ยังต้องปฏิบัติตามหลักของศีลธรรมหลักของ ศาสนา ได้แก่ การปฏิบัติตามหลักธรรมที่ใช้ในการปกครองที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม ราชสังคหะวัตถุหรือจักรวรรดิวัตร ๑๒ ประการ เป็นต้น เราจึงเชื่อว่าฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นเจ้า ชีวิต ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือพระเจ้าแผ่นดินและทรงเป็นธรรมราชาอีก ด้วย การปกครองแบบพ่อปกครองลูกรูปแบบการปกครองนี้ก็อยู่กับสังคมไทยมาจนกระทั่งมี การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองแบบค่อยเป็นค่อยไป จากการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยอาณาจักรกรุงสุโขทัยมาเป็นการปกครองแบบ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยมีรูปแบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมแนวคิดเรื่องฐานะของพระมหากษัตริย์จึงเปลี่ยนไป และใช้แนวคิดนี้จวบจนสิ้นอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เข้าสู่ยุคอาณาจักรกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงใช้รูปแบบการเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์เพื่อประโยชน์ในการปราบปรามกลุ่มต่างๆที่ตั้งขึ้นมาอย่างอิสระ และเมื่อมีการสถาปนาอาณาจักรใหม่ คือ อาณาจักรรัตนโกสินทร์ มีเมืองหลวงชื่อ กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์... ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรรัตนโกสินทร์ก็ยังทรงใช้รูปแบบการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์จนมาถึงสมัยรัชการที่ ๕ แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีนโยบายเรื่องการเมืองการปกครองที่ทันสมัยโดยให้เชื้อพระวงศ์และขุนนาง ไปดูงานและศึกษาระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่เจริญ เช่น อังกฤษ เพื่อมาทดลองในประเทศไทยบ้าง พอเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทดลองเมืองประชาธิปไตย ที่เรียกกันติดปากว่า “ดุสิตธานี” ทำให้การเมืองการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ค่อยๆ พัฒนาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น การปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ฐานะของพระมหากษัตริย์ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่มีทรงพระราชอำนาจสูง สุดเพียงผู้เดียวอำนาจนั้นมอบให้แก่ประชาชนและพระมหากษัตริย์ ทรงอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าพระราชอำนาจในทางการเมืองจะลดน้อยลงแต่พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยก็ อยู่ในหัวใจของชาวไทยทุกผู้ทุกนาม พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและแผ่นดินไทยอย่างหา ที่เปรียบมิได้ ในยามที่ประเทศชาติและการเมืองวุ่นวายระส่ำระสาย มีหลายครั้งหลายคราวที่พระ มหากษัตริย์พระองค์ท่านทรงเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในยามที่ประเทศทุกข์ยาก หรืออาจกล่าวได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยอยู่คู่กับสังคมไทยตลอดไป สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องพระมหากษัตริย์ไว้ในมาตรา ๘-๒๕ นักศึกษาควรศึกษาเพิ่มเติมให้ละเอียด ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาประชาชน ทั่วไปก็ต้องศึกษารัฐธรรมนูญ เรามาเริ่มอ่านและศึกษาอย่างช้าๆ ไปด้วยกัน ท่านใดที่ต้องการศึกษารัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาเรียนได้ฟรีแต่ให้มาเป็นกลุ่มๆละ ๑๐-๒๐ คน ภาควิชาสังคมศาสตร์ มทร.ล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก จะจัดกลุมสนใจให้และเป็นการบริการความรู้ให้สังคม ไม่เสียค่าใช้จ่ายฟรี ทุกรายการ แต่อย่าลืมห่อข้าวกลางวันมารับประทานเอง

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เนื้อหา

* 1 การเตรียมการเปลี่ยน แปลง
* 2 การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
* 3 พระปฏิสันถารระหว่าง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี
* 4 ภูมิหลังทางประวัติ ศาสตร์สังคม
* 5 อ้างอิง
* 6 ดูเพิ่ม
* 7 แหล่งข้อมูลอื่น

การ เตรียมการเปลี่ยนแปลง
คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราช พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้า อยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการ ปะทะรุนแรงที่เสียเลือดเนื้อได้

ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระ นครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษา พระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม
หมุด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีข้อความว่า "...ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"

หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

* หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็น หน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพ หัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.
* หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อม ไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.
* หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
* หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จ แล้ว

แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน
การ ยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพล พยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า
พระ ปฏิสันถารระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับ ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี

ในเวลาประมาณ 08.00 น. ของเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ที่ทาง ร.ท.ประยูรร่วมกับ พ.ต.หลวงพิบูลสงครามทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายระดับสูงและบุคคลสำคัญต่าง ๆ มาไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม ในส่วนของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงมีพระปฏิสันถารกับ ร.ท.ประยูร ผู้ที่ทำการควบคุมพระองค์ไว้ ดังปรากฏในหนังสือเบื้องแรกประชาธิปไตย ที่เขียนโดย ร.ท.ประยูร เอง

ความตอนหนึ่งว่า

เวลา 08.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. หลวงพิบูลสงครามและคณะ ได้นำจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์...มาในรถถัง ส่งให้ที่หน้าประตูพระที่นั่งอนันตสมาคม

ข้าพเจ้าถวายคำนับ เชิญเสด็จฯ ทรงจ้องข้าพเจ้าด้วยพระเนตรดุเดือด

ตรัสว่า "ตาประยูร แกเอากับเขาจริง ๆ พระยาอธิกรณ์ประกาศ บอกฉันไม่เชื่อ ฉันตั้งชื่อทำขวัญให้แกเมื่อเกิด ฉันเลี้ยงแกมาตั้งแต่เด็ก โกรธฉันที่ไม่ไปเผาศพพ่อแกใช่ไหม"

ข้าพเจ้าเร่งให้เสด็จลงจากรถถัง ทรงสำทับถาม "จะเอาฉันไปไหน อย่าเล่นสกปรกนะ" เมื่อเข้าไปประทับในที่ประทับด้านหน้า ข้าพเจ้าสำนึก วางปืนก้มกราบขอพระราชทานอภัย

ทรงรับสั่งถาม "ใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม?"

"ยังกราบทูลไม่ได้พ่ะย่ะค่ะ" ทรงกริ้ว รับสั่งหนักแน่นว่า "ตา ประยูร แกเป็นกบถ โทษถึงต้องประหารชีวิต"

ทรงรับสั่งถามต่อไป "พวกแกที่ยึดอำนาจนี้ ต้องการอะไร มีความประสงค์อะไร ต้องการปาลีเมนต์ มีคอนสติติวชั่นใช่ไหม" ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ใช่"

ทรงนิ่งชั่วครู่ แล้วรับสั่งถามว่า "แล้วมันจะดีกว่าที่เป็นอยู่เวลา นี้หรือ ตาประยูร"

"อารยประเทศทั่วโลกก็มีปาลีเมนต์กันทั่วไป ยกเว้นอาบิสซีเนีย" ข้าพเจ้ากราบทูล

ทรงถามว่าข้าพเจ้าอายุเท่าไร เมื่อข้าพเจ้ากราบทูลว่า 32 ก็รับสั่งว่า "เด็ก เมื่อวานซืนนี้เอง นี่แกรู้จักคนไทยดีแล้วหรือ แกจะต้องเจอปัญหาเรื่องคน พระราชวงศ์จักรีครองเมืองมา 150 ปีแล้ว รู้ดีว่าคนไทยนี่ปกครองกันได้อย่างไร อ้ายคณะของแกจะเข็นครกขึ้นเขาไหวรึ"

ทรงถามถึงการศึกษา เมื่อกราบทูลว่าเรียนรัฐศาสตร์จากปารีส ทรงสำทับ "อ้อ มีความรู้มาก แกรู้จักโรเบสเปีย มารา และกันตอง เพื่อนน้ำสบถฝรั่งเศสดีแน่ ในที่สุดมันผลัดกันเอากิโยตีน เฉือนคอกันทีละคน จำได้ไหม ฉันสงสาร ฉันเลี้ยงแกมา นี่แกเป็นกบถ รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้"

ข้าพเจ้ากราบทูลว่า "ตามประวัติศาสตร์ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น"

Cquote2.svg
[แก้] ภูมิ หลังทางประวัติศาสตร์สังคม

อาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำ ต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130" [2]

หนังสือพิมพ์ รายงานเหตุการณ์

กองกำลังของคณะราษฎร ถ่าย ณ บริเวณหน้าวังปารุสกวัน

ประชาชนหลั่งไหลเข้ามาดูเหตุการณ์ ณ ลานพระราชวังดุสิต

ประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการ ปกครอง ( รัชกาลที่ 4 - รัชกาลที่ 6 )

1. ด้านการปกครอง
แม้ว่ารัชกาลที่ 4 จะทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดตามแบบพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่พระองค์ก็ได้ทรงเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติบางอย่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาราษฎร์ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับประชาชน รัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณาว่าประเพณีบางอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม เช่น ห้ามราษฎรเข้าใกล้ชิดรวมทั้งมีการยิงกระสุนเวลาเสด็จพระราชดำเนินและบังคับ ให้ราษฎรปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือน เป็นประเพณีที่ล้าสมัย ประเทศตะวันตกที่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่มีประเพณีตัดสิทธิราษฎรแบบนี้ จึงโปรดให้ยกเลิกประเพณีดังกล่าว อนุญาตให้ราษฎรเข้าเฝ้าโดยสะดวกและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ถวายฎีการ้องทุกข์ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินด้วย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ.2416 และทรงว่าราชการด้วยพระองค์เอง จึงทรงเริ่มปรับปรุงการปกครองซึ่งเรียกว่า “การปฏิรูปการปกครอง”
1. การปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 2 ระยะคือ
1.1 การปรบปรุงการปกครองประเทศในตอนต้นรัชกาล ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน หรือเรียกว่า “เคาน์ซิล ออฟ สเตท” (Council of State) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ หรือเรียกว่า “ปรีวี เคาน์ซิล” (Privy Council) สภาทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมาย รวมทั้งยกเลิกประเพณีโบราณต่างๆ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในสมัยนั้น ปรากฏว่าสภาทั้ง 2 ดำเนินงานไปได้ไม่นาน ก็ต้องหยุดชะงักเพราะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่เรียกว่า“วิกฤตการณ์วังหน้า” (เป็นความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับกรม พระราชวังบวรวิชัยชาญ ซึ่งดำรงตำแหน่งวังหน้า อันเนื่องมาจากความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนเกือบจะมีการประทะกันระหว่าง กัน) ขึ้นในปลาย พ.ศ.2417 แต่ก็สามารถยุติลงได้
1.2 การปฏิรูปการปกครองในช่วงหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงภยันตรายจากการแสวงหาอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก และทรงเห็นว่าลักษณะการปกครองของไทยใช้มาแต่เดิมล้าสมัยไม่สอดคล้องกับความ เจริญก้าวของบ้านเมือง ดังนั้นใน พ.ศ.2430 ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองแผนใหม่ตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะในส่วนกลางมีการจัดแบ่งหน่วยงานการปกครองออกเป็น 12 กรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กระทรวง” แทนโดยประกาศสถาปนากรมหรือกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 และยังได้ประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้น ยุบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ทุกตำแหน่ง มีสิทธิเท่าเทียมกันในที่ประชุม ต่อจากนั้นได้ยุบกระทรวงและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่เหลือไว้เพียง 10 กระทรวง คือ
1. กระทรวงมหาดไทย
2. กระทรวงกลาโหม
3. กระทรวงการต่างประเทศ
4. กระทรวงวัง
5. กระทรวงเมือง (นครบาล)
6. กระทรวงเกษตราธิการ
7. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
8. กระทรวงยุติธรรม
9. กระทรวงธรรมการ
10.กระทรวงโยธาธิการ
11.(กระทรวงยุทธนาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงกลาโหม เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
12.(กระทรวงมุรธาธิการ) ต่อมาไปอยู่กระทรวงวัง เนื่องจากมีหน้าที่คล้ายคลึงกัน
ส่วนภูมิภาค ได้ยกเลิกการจัดเมืองเป็นชั้นเอก โท ตรี จัตวา เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล คือ รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็นมณฑลๆ หนึ่ง โดยมีข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ปกครองมณฑล ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลนี้เป็นการรวมอำนาจการปกครองทั้งด้านการเมือง และเศรษฐกิจเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้การปกครองหัวเมืองเป็นแบบเดียวกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็นเมือง(จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามลำดับ
แต่เนื่องจากระยะนี้บรรดาประเทศมหาอำนาจต่างกำลังแสวงหาอาณานิคม ประเทศไทยก็ถูกฝรั่งเศสคุกคามอย่างหนัก จนทำให้การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ดำเนินไปไม่ดีเท่าที่ควรและเกิดความล่าช้า เนื่องจากพื้นฐานทางด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของไทยขัดต่อการพัฒนาประเทศตามแบบแผนใหม่ หรือตามแบบประเทศตะวันตก
2. การวางฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไทยได้เริ่มมีการวางราฐานการปกคารองระบอบประชาธิปไตย มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 โดยใช้แบบแผนการปกครองตามอย่างสมัยรัชกาลที่ 5 แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ คือ ในส่วนกลาง ตั้งกระทรวงทหารเรือ กระทรวงพาณิชย์ ในส่วนภูมิภาค รวมมณฑลต่างๆ เข้าเป็นภาค มีอุปราชและ สมุหเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง กรุงเทพฯ ก็นับเป็นมณฑลหนึ่งมีสมุหพระนครปกครองให้เรียกเมืองต่างๆว่า จังหวัด และ พ.ศ.2461 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลองขึ้นในบริเวณพระราชวังดุสิต ชื่อว่า “ดุสิตธานี” และจัดการปกครองเป็นแบบเทศบาล แบ่งเขตการปกครองออกเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ตามกฎหมายลักษณะการปกครองท้องที่ มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครอง เรียกว่า “ธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี) พุทธศักราช 2461” รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยให้ข้าราชการบริพารได้เข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการปกครองในระบอบนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยผ่านทาง หนังสือและอออกพระราชาบัญญัติประถมศึกษาอีกด้วย
3. การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาล สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นระยะเวลาที่ชาวยุโรปเริ่มแสวงหาอาณานิคมและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเมืองไทย พระองค์จึงได้ทรงตรากฎหมายและประกาศต่างๆ ขึ้นใช้บังคับมากมาย เพื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในขณะนั้น เช่น พระราชบัญญัติมรดกสินเดิมและสินสมรส ใน พ.ศ. 2394 พระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณร และศิษย์วัด พ.ศ. 2402
ในการติดต่อกับต่างประเทศ ทำให้ไทยเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” โดยต่างชาติอ้างว่ากฎหมายไทยป่าเถื่อนและรังเกียจวิธีการพิจารณาคดีแบบจารีต นครบาล (คือวิธีการไต่สวนคดีของตุลาการอย่างทารุณ เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯยกเลิก เมื่อ พ.ศ.2439) จึงไม่ยอมให้ใช้บังคับคนต่างชาติหรือคนในบังคับบัญชา ทำให้ไทยต้องทำการปฏิรูปกฎหมายในสมัยรัชกาลที่ 5
การปฏิรูปกฎหมายไทย การปฏิรูปกฎหมายไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มเมื่อ พ.ศ.2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชุรีดิเรกฤทธิ์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาตลับ ได้ทรงศึกษาวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและได้รับยกย่องว่าเป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายและการศาลไทย” ทรงตั้งโรงเรียนสอนวิชากฎหมายขึ้น โดยดำเนินการสอนเอง โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจชำระและร่างกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายลักษณะอาญา ประกาศใช้ใน พ.ศ.2451 จัดเป็นกฎหมายฉบับใหม่และทันสมัยที่สุดฉบับแรกของไทย ต่อมาได้ประกาศใช้กฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.116 พระราชบัญญัติสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ ร.ศ.120 กฎหมายว่าด้วยการเลิกทาส พ.ศ2448 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูปภาษากฎหมายไทยให้รัดกุม ชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯให้ดำเนินงานร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อจากที่ทำไว้ใน สมัยรัชกาลที่ 5 และ พ.ศ.2466 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมร่างกฎหมายขึ้น
การศาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมใน พ.ศ.2434 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น ตุลาการขาดความยุติธรรม ทุจริตตัดสินคดีความล่าช้า เป็นต้น โดยแยกตุลาการออกจากฝ่ายธุรการ และรวมศาลที่กระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ มาไว้ที่กระทรวงยุติธรรมเพียงแห่งเดียว และใน พ.ศ.2435 ได้มีการเปลี่ยนแปลงงานด้านการศาล คือ รวมศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตั้งศาลราชทัณฑ์พิเฉทขึ้น ยกเลิกกรมรับฟ้องโดยตั้งจ่าศาลเป็นพนักงานรับฟ้องประจำศาลต่างๆ ต่อมารวมศาลราชทัณฑ์พิเฉทกับศาลอาญา รวมศาลแพ่งเกษมกับศาลแพ่งไกรศรีเป็นศาลแพ่ง ใน พ.ศ.2441 จัดแบ่งศาลออกเป็น 3 แผนก ได้แก่ ศาลฎีกา ศาลกรุงเทพฯ และศาลหัวเมือง
ความสำเร็จในการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยนั้น นอกจากจะเป็นผลงานของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการไทยที่มีความรู้ความ สามารถ เช่นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัฒนวิศิษฐ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม องค์แรก และขุนหลวงพระยาไกรสี ผู้พิพากษาไทยคนแรกที่เรียนวิชากฎหมายสำเร็จได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว ไทยยังได้จ้างนักกฎหมายชาวต่างประเทศที่มีความรู้มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายอีก ด้วย บุคคลสำคัญ ได้แก่ นายโรลัง ยัคมินส์ ขาวเบลเยี่ยม นายโตกิจิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น นายวิลเลียม อัลเฟรด ติลเลเก ชาวลังกา และนายยอร์ช ปาดู ชาวฝรั่งเศส

2. ด้านเศรษฐกิจ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีการค้ากับอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2398 เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” หลังจากทำสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้วได้มีชาติอื่นๆ เข้ามาขอเจราจาทำสนธิสัญญาตามแบบอย่างอังกฤษอีกหลายชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส โปรตุเกส เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น เมื่อมีชาวต่างประเทศเดินทางมาค้าขายมากขึ้น สินค้าแปลกๆใหม่ๆ และวิทยาการต่างๆ ก็แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป ทำให้มีการพัฒนาบ้านเมือง เพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับต่างประเทศ เช่น มีการตัดถนนสายต่างๆ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง หรือถนนใหม่ บำรุงเมือง เฟื่องนคร สีลม และมีการขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองดำเนินสะดวก ฯลฯ
ตามข้อความในสนธิสัญญาเบาว์ริงกำหนดให้ไทยเรียกเก็บภาษีขาเข้าไม่เกินร้อยละ 3 เท่านั้น แต่เนื่องจากมีเรือเข้ามาค้าขายมากกว่าแต่ก่อนถึงปีละ 103 ลำ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าทุกปี แต่การจัดเก็บภาษีในสมัยนี้ไม่รัดกุมพอ เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นใน พ.ศ.2416 เพื่อรวบรวมภาษีอากรทุกชนิดจากทุกหน่วยงาน และได้ตรมพระราชบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรหลายฉบับ กำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่แบ่งงานในแต่ละกระทรวง กำหนดอัตราภาษีอากรที่แน่นอน ทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกมากมาย
เงินตรา ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงกษาปณ์ขึ้นใน พ.ศ.2403 ได้เปลี่ยนจากการใช้เงินพดด้วงเป็นเงินเหรียญ
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาตราเงินไทยมาใช้ระบบทศนิยมกำหนดให้ 1 บาท มี 100 สตางค์ สร้างเหรียญสตางค์ทำด้วยทองขาว และเหรียญทองแดง และได้โปรดเกล้าฯ ได้พิมพ์ธนบัตรขึ้นใช้อย่างจริงจัง โดยตราพระราชบัญญัติธนบัตร ร.ศ.121 (พ.ศ.2445)และตั้งกรมธนบัตรขึ้น สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ นอกจากนี้ยังประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ.127 (พ.ศ.2451) โดยใช้ทองคำเป็นมาตรฐานเงินตราแทนเงิน และในปีเดียวกันได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินพดด้วง เหรียญ เฟื้อง เบี้ยทองแดงต่างๆ เบี้ยสตางค์ทองขาว โดยให้ใช้เหรียญบาท สลึง และเหรียญสตางค์อย่างไหมแทน
การธนาคารและคลังออมสิน
สมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งธนาคารขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ.2431 ดำเนินการโดยชาวต่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ.2449 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (พระองค์เจ้าไชยันตมงคล) ได้เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย ชื่อว่า “บุคคลัภย์” (Book Club) ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนตั้งเป็นธนาคารได้ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ชื่อว่า “บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (Siam Commercial Co,) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด”
คลังออมสินจัดตั้งในสมัยรัชกาลที่ 6 ใน พ.ศ.2458 ตามพระราชบัญญัติออมสิน และได้วิวัฒนาการเป็นธนาคารออมสิน

3. สภาพสังคมและการศึกษา
การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงดำริว่า การที่ประเทศไทยมีชนชั้นทาสมากเท่ากับเป็นการเสียเศรษฐกิจของชาติ และทำให้ต่างชาติดูถูกและเห็นว่าประเทศไทยป่าเถื่อนด้อยความเจริญ ซึ่งมีผลทำให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ คิดจะเข้าครอบครองไทย โดยอ้างว่า เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ที่เจริญแล้วทั้งหลาย
ดังนั้น ใน พ.ศ.2417 พระองค์จึงทรงเริ่มออกพระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทขึ้น โดยกำหนดค่าตัวทาสอายุ 7-8 ปี มีค่าตัวสูงสุด 12-14 ตำลึง แล้วลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีอายุ 21 ปี ค่าตัวจะเหลือเพียง 3 บาท ซึ่งทำให้ทาสมีโอกาสไถ่ตัวเป็นไทได้มากและใน พ.ศ.2420 พระองค์ทรงบริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อไถ่ตัวทาสที่อยู่กับเจ้านายมาครบ 25 ปี จำนวน 45 คน พ.ศ.2443 ทรงออกกฎหมายให้ทาสสินไถ่อายุครบ 60 ปี พ้นจากการเป็นทาสและห้ามขายตัวเป็นทาสอีก พ.ศ.2448 ออกพระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124 บังคับทั่วประเทศ ห้ามมีการซื้อทาสต่อไป ให้ลดค่าตัวลงเดือนละ 4 บาท จนครบจำนวนเงิน และให้บรรดาทาสเป็นไททั้งหมด
การเลิกทาสของพระองค์ประสบความสำเร็จอย่างดี เป็นเพราะพระปรีชาญาณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทรงใช้ทางสายกลาง ค่อยๆดำเนินงานไปทีละขั้นตอน ทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นประเทศต่างๆ ที่เคยประสบมา
การศึกษา
ผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาสมัยใหม่ในระยะแรกของไทย คือ คณะมิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 แหม่มแมตตูน ภรรยามิชชันนารีอเมริกัน ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2395 ต่อมาได้รวมกับโรงเรียนของซินแส กีเอ็ง ก๊วยเซียน ซึ่งเป็นชาวจีนที่นับถือนิกายโปรเตสแตนส์ โรงเรียนนี้รับนักเรียนชายล้วน มีครูใหญ่เป็นคนไทย และสอนด้วยภาษาไทยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้ายาที่ตำบลสำเหร่ ชื่อว่า โรงเรียนสำเหร่บอยคริสเตียนไฮสกูล ต่อมาย้ายมาอยู่ที่ตำบลสีลม เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” นับเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกของไทย
ส่วนโรงเรียนสตรีแห่งแรกในประเทศไทย คือ โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช ตั้งโดยแหม่มเฮาส์ ใน พ.ศ.2417 ในต่างจังหวัด พวกมิชชันนารีได้ตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่ง เช่น โรงเรียนปริ๊นส์รอแยลวิทยาลัย และดาราวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนผดุงราษฎร์ จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนอรุณประดิษฐ์ จังหวัดเพชรบุรี
การปฏิรูปการศึกษาสมัยรัชกาลที่ 5
สาเหตุที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา คือ พระองค์ต้องการสร้างคนที่มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการช่วยบริหารประเทศให้ พัฒนามากขึ้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกคือ โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2414 ทรงพระราชทานเสื้อผ้า อาหารกลางวันทุกวัน ครูก็ได้ค่าจ้าง ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระตำหนักเดิมที่สวนกุหลาบ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพระบรมมหาราชวัง ให้ชื่อว่า โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีพระยาสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) หรือหลวงสารประเสริฐเป็นอาจารย์ใหญ่ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในวัง มีฟรานซิส ยี แปตเตอร์สัน เป็นครู
อีกสาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการปลดปล่อยทาสให้เป็นไท พระองค์ทรงห่วงใยมาก เพื่อที่จะไม่ให้กลับมาเป็นทาสอีก จึงเป็นต้องให้คนเหล่านั้นได้รับการศึกษา เพื่อให้มีวิชาความรู้นำไปประกอบอาชีพได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้น ชื่อ โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ใน พ.ศ.2427
แบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนขณะนั้นมีทั้งหมด 6 เล่ม ซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์และพิศาลกานต์ ต่อมาได้จัดตั้งกรมศึกษาธิการขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2430 ภายหลังยกฐานะเป็นกระทรวงธรรมการ มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษา (สมัยรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ) และให้ใช้หนังสือแบบเรียนเร็วของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพแทนแบบเรียนทั้ง 6 เล่ม ต่อได้มีการประกาศใช้โครงการศึกษาชาติ อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ตามแบบแผนของอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงขึ้น เรียกว่า “คิงสกอลาชิป” ตั้งแต่ พ.ศ.2440 เป็นประจำทุกๆ ปี ปีละ 2 คน ส่งไปศึกษายังทวีปยุโรปหรืออเมริกา
การศึกษาแบบแผนใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการแบ่งการศึกษาออกเป็นสามัญศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาทั่วไปและวิสามัญ ศึกษาเกี่ยวกับวิชาชีพโดยเฉพาะ โดยขยายไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการศึกษาในโรงเรียนมหาดเล็กตามแบบอังกฤษแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียน “วชิราวุธวิทยาลัย”
พ.ศ.2464 ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นใช้ กำหนดให้เด็กชาย-หญิงทั่วพระราชอาณาจักรที่มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี เข้าเรียนในโรงเรียนโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทุกคนต้องจบชั้น ป.4 เมื่ออายุ 15 ปี ถ้าผู้ปกครองคนใดฝ่าฝืนจะมีโทษ (ครั้นถึง พ.ศ.2503 จึงได้มีขยายการศึกษาภาคบังคับออกเป็น 7 ปี และ 12 ปีในปัจจุบัน) สำหรับการศึกษาประชาบาลในแต่ละท้องถิ่น กำหนดได้โดยอาศัยทุนทรัพย์ของคนในท้องถิ่น ซึ่งเรียกว่า “เงินศึกษาพลี” และคนในท้องถิ่นเป็นผู้ตั้งโรงเรียนขึ้นเอง แต่อยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐบาล
การตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัชกาลที่ 6 ทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเดิม ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษา ให้ชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย ใน พ.ศ.2459 เพื่อจะได้ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถสูงสำหรับเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องจ้างชาวต่างประเทศด้วยค่าจ้างแพง บางคนทำงานไม่ค่อยได้ผล เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ สภาพแวดล้อมและปัญหาที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่

4. การศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี
การศาสนา รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดต่างๆ ได้แก่ วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดปทุมวนาราม และวัดราชประดิษฐ์
รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสถานศึกษาสำหรับสงฆ์ คือ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หรือมหาธาตุวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาฝ่ายมหานิกาย และมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นใน พ.ศ.2436 เป็นสถานศึกษาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย สำหรับวัดที่ทรงสร้างในสมัยนี้ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น
ขนบธรรมเนียมประเพณี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเพณี วัฒนธรรมของชาติให้เป็นแบบอารยประเทศ ได้เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกาลเวลาและเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในเวลา เดียวกันด้วย เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มที่ราชสำนักก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ระดับประชาชน แต่ผลกระทบของการรับประเพณีวัฒนธรรมแบบตะวันตกบางอย่างก็เห็นชัดเฉพาะใน เมืองหลวงเท่านั้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่ตามหัวเมือง และในชนบทยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
นับแต่ต้นรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเป็นแบบตะวันตกหลายประการ คือ มีประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า ให้ชาวตะวันตกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เข้าเฝ้าขณะเสด็จออกมหาสมาคมพร้อมกับข้าราชการไทยเป็นครั้งแรก ให้ชาวต่างประเทศถวายคำนับและนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าได้ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการนับถือศาสนาและการประกอบอาชีพ ในด้านสิทธิเสรีภาพของสตรีรัชกาลที่ 4 ทรงพยายามยกฐานะของสตรีให้ดีขึ้น สำหรับข้าราชการฝ่ายในที่ไม่สมัครใจจะอยู่ในวังต่อไป ก็ทรงอนุญาตให้ลาออกจากราชการได้ ทรงริเริ่มให้สตรีในราชสำนักได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาภาษาอังกฤษจากสตรีในคณะ มิชชันนารีอเมริกัน นับเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางการศึกษาของสตรีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมา ก่อน นอกจากนี้ยังทรงเริ่มใช้ชาวต่างประเทศเป็นข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงประเทศเป็นแบบตะวันตกด้วย
ประเพณี วัฒนธรรมของไทยได้มีการแก้ไขปรับปรุงครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเสด็จประพาสต่างประเทศทั้งในเอเชียและยุโรป คือให้ผู้ชายไทยในราชสำนักเลิกไว้ผมทรงมหาดไทยเปลี่ยนเป็นไว้ผมยาวทั้งศีรษะ อย่างฝรั่ง ส่วนผู้หญิงให้เลิกไว้ผมปีก ให้ไว้ผมตัดยาวทรงดอกกระทุ่ม ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างออกแบบตัดแปลงจากเสื้อนอกของฝรั่งเรียกว่า “เสื้อราชประแตน” และสวมหมวกอย่างยุโรป ให้ข้าราชการทหารแต่งเครื่องแบบ นุ่งกางเกงอย่างทหารยุโรป แทนการนุ่งโจงกระเบนแบบเก่า
รัชกาลที่ 5 ทรงแก้ไขประเพณีการสืบราชสันตติวงศ์ ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลใน พ.ศ.2429 โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” ตาแบบประเทศตะวันตก ที่เรียกองค์รัชทายาทว่า “Crown Prince”
รัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกประเพณีวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ที่สำคัญคือ เลิกประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าและให้ยืนเข้าเฝ้าแทน ยกเลิกการโกนผมเมื่อพระมหากษัตริย์สวรรคต คงให้มีการไว้ทุกข์เพียงอย่างเดียว เปลี่ยนวิธีการไต่สวนของตุลาการแบบเก่า ยกเลิกจารีตนครบาล เพราะเป็นวิธีลงโทษที่ชาวตะวันตกรังเกียจทารุณไร้อารยธรรม พระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ของรัชกาลที่ 5 ในการเปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมของไทยให้เป็นไปตามคตินิยมตะวันตก คือ การเลิกทาสและเลิกระบบไพร่ อันเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาราษฎรโดยตรง
ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัตินามสกุล พ.ศ.2455 ให้ใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางราชการ พ.ศ.2456 แทนการใช้รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เพราะเป็นศักราชทางศาสนาที่ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกที่ใช้ศักราชของศาสนาที่ชนส่วนใหญ่นับถือคริสต์ ศักราช (ค.ศ.) และเปลี่ยนแปลงการนับเวลาทางราชการเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสากลนิยม โดยถือเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ กำหนดคำนำหน้าสตรีที่ยังเป็นโสดว่า “นางสาง” ผู้ที่มีสามีแล้ว ใช้คำว่า “นาง” และกำหนดคำนำหน้านามเด็กว่า “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” ขึ้นด้วย
นอกจากนี้เมื่อไทยส่งกองทหารอาสาไปสมทบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐ์ธงชาติขึ้นใหม่ใช้ 3 สี คือ สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง ตามแบบสีธงชาติของอารยประเทศส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ และพระราทานนามธงชาติแบบสามสีห้าริ้วที่ประกาศใช้ขึ้นใหม่ว่า “ธงไตรรงค์” ซึ่งยังคงใช้เป็นประจำชาติมาจนทุกวันนี้
พ.ศ.2461 โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตามแบบประเทศยุโรปที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข วางลำดับผู้ที่จะทรงได้ราชสมบัติไว้โดยละเอียด
ในด้านการแต่งกาย การเปลี่ยนแปลงการแต่งกายแบบตะวันตก ส่วนใหญ่เป็นไปเฉพาะราชสำนักและในหมู่ข้าราชการชั้นสูงเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 สตรีไทยหันไปแต่งกายแบบตะวันตกมากขึ้น นิยมนุ่งซิ่นแค่เข่า สวมเสื้อทรงกระบอกตัวยาวแขนสั้น ไว้ผมบ๊อบ ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการพลเรือนยังคงนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อราชปะแตน รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีก หรือหมวกกะโล่

5. วรรณกรรรมและศิลปกรรรม
1. วรรณกรรม
1.1 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทั้งกวี มีความสามารถในด้านศาสนา โบราณคดี โหราศาสตร์ และภาษาอังกฤษ กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 มีดังนี้
1) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระรามเดินดง ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ประกาศและพระบรมราชาธิบายต่างๆ
2) หม่อมราโชทัย ได้แก่ จดหมายเหตุของหม่อมราโชทัย นิราลอนลอน
1.2 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้มีการปรับปรุงบ้านเมืองหลายอย่างที่ช่วยสนับสนุนให้งานวรรณกรรม ก้าวหน้า คือ การตั้งโรงเรียน การพิมพ์หนังสือ การตั้งหอสมุดแห่งชาติและเกิดโบราณคดีสโมสรที่ช่วยส่งเสริมงานด้านการ ประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประกอบกับได้รับอารยธรรมตะวันตกเผยแพร่เข้ามาอีกด้วย
กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 5 มีดังนี้
1) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ไกลบ้าน พระราชวิจารณ์ทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ลิลิตนิทราชาคริต บทละครเรื่องเงาะป่า กวีนิพนธ์เบ็ดเตล็ด
2) พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แก่ แบบเรียนภาษาไทย 6 เล่ม
1.3 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่วรรณกรรมได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากที่สุด วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้องกรองเจริญถึงขีดสุด ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์และพระราชทานเสรีภาพในการประพันธ์ อย่างกว้างขวาง และยังทรงตั้งวรรณคดีสโมสรขึ้น เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือไทยให้ดีขึ้น
กวีและวรรณกรรมที่สำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 มีดังนี้
1) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว วรรณกรรมที่ทรงพระราชนิพนธ์ ได้แก่
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น เที่ยวเมืองพระร่วง สงครามสืบราชสมบัติโปแลนด์ เที่ยวเมืองไอยคุปต์ นารายณ์สิบปาง ตำนานชาติฮั่น
บทละคร มีอยู่หลายเรื่อง เช่น หัวใจนักรบ มัทนะพาธา พระร่วง วิวาห์ พระสมุทร ความเสียสละ เวนิสวานิช ตามใจท่าน เห็นแก่ลูก ท้าวแสนปม ศกุนตลา ฯลฯ
ปาฐกถาและบทความ เช่น เทศนาเสือป่า ปลุกใจเสือป่า ยิวแห่งบูรพาทิศ โคลนติดล้อ
ร้อยกรอง เช่น พระนลคำหลวง ลิลิตพายัพ นิราศพระมะเหลเถไถ กาพย์เห่เรือ มงคลสูตรคำฉันท์
สารคดี เช่น บ่อเกิดรายเกียรติ์
2) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น ไทยรับพม่า นิราศนครวัด เที่ยวเมืองพม่า นิทานโบราณคดี เสด็จประพาสต้น จดหมายเหตุ เป็นต้น
3) กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เรื่องเด่นๆ ที่นิพนธ์ เช่น จดหมายจางวางหร่ำ ตลาดเงินตรา นิทานเวตาล พระนางฮองไทเฮา กนกนคร พระนลคำฉันท์ เป็นต้น
4) พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) ได้แก่ ตำราไวยากรณ์ อักขรวิธี วจีวิภาค วายกสัมพันธ์ ฉันทลักษณ์ สงครามภารตะคำกลอน รำพึงในป่าช้า
หลังรัชกาลที่ 6 วรรณประเภทร้อยแก้วเจริญขึ้นมาก เช่น นวนิกาย เรื่องสั้น บทความและสารคดี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากยุโรป มีการแปลวรรณคดีและเรียบเรียงวรรณคดีของต่างประเทศหลายเรื่อง เช่น สาวเครือฟ้า ละครเรื่องเจ้าหญิงแสนหวี ของหลวงวิจิตรวาทการ สี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นต้น
2. ศิลปกรรม
2.1 สมัยรัชกาลที่ 4
1) ด้านสถาปัตยกรรม เริ่มนิยมตามแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น ปราสาทพระเทพบิดร เจดีย์สำคัญ เช่น พระปฐมเจดีย์ พระมหาเจดีย์ในวัดพระเชตุพนฯ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น
2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถและวิหารวัดบวรนิเวศวิหาร ภาพเหมือนพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือขรัวอินโข่ง
2.2 สมัยรัชกาลที่ 5
1) ด้านสถาปัตยกรรม ได้รับอิทธิพลของตะวันตกมากขึ้น เช่น พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระที่นั่งอนันตสมาคม พระรามราชนิเวศน์ จังหวัดเพชรบุรี ศาลว่าการกระทรวงกลาโหม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมแบบไทย เช่น วัดเบญจมบพิตรฯ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ พระราชวังบางประอิน อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2) ด้านประติมากรรม เช่น พระพุทธชิราชจำลอง พระสัมพุทธพรรณี พระบรมรูป เช่น พระบรมรูปหล่อพระมหากษัตริย์ 4 รัชกาล ในปราสาทพระเทพบิดร พระบรมรูปทรงม้า
3) ด้านนาฏกรรม เกิดละครแบบใหม่ เช่น ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ ละครร้อง ละครพูด
4) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ในอุโบสถวัดราชาธิวาส
2.3 สมัยรัชกาลที่ 6
1) ด้านสถาปัตยกรรมสร้างตามแบบไทย เช่น หอประชุมโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุสาวรีย์ทหารอาสา
สถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสนามจันทร์ พระราชวังพญาไท (ปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า)
2) ด้านจิตรกรรม เช่น ภาพเขียนผนังวิหารทิศที่พระปฐมเจดีย์ ภาพเขียนที่ผังพระที่นั่งอนันตสมาคม
3) ด้านประติมากรรม เช่น พระแก้วมรกตน้อย พระนิพพาน แม่พระธรณีบีบมวยผม รูปปั้นหล่อด้วยปูนและโลหะ บริเวณพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งอัมพรสถาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
4) ด้านนาฏกรรม ในสมัยนี้ศิลปะด้านโขนและละครและดนตรีเจริญที่สุด มีการตั้งโรงเรียนหลวงสอนด้านนาฏศิลป์ ตั้งคณะละคร สร้างโรงละคร ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูด ฝึกหัดประชาชนทั่วไปให้เล่นโขน มีทั้งโขนสมัครเล่น โขนบรรดาศักดิ์และโขนเชลยศักดิ์

6. การต่างประเทศ
นโยบายต่างประเทศในสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีดังนี้
1. นโยบายต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มมีสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการวางนโยบายแผนใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและรับสถานการณ์ต่างๆ ของโลกภายนอก ที่มีผลกระทบกระเทือนทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อประเทศไทย นโยบายต่างประเทศของไทยแต่ละรัชกาลพอจะสรุปได้ ดังนี้
1.1 นโยบายต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยนี้เป็นสมัยของการเริ่มต้นเปิดประเทศครั้งใหญ่ของไทย รัฐบาลถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาที่ผูกมัดเอารัดเอาเปรียบและไม่ธรรม แต่เพื่อความปลอดภัยและเอกราชของชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ใช้นโยบาย “ผ่อนสั้นผ่อนยาว” ขึ้นเป็นพระองค์แรก ซึ่งทำให้ไทยรอพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นและเป็นเอกราช มาจนปัจจุบัน และยังเป็นแนวทางให้รัฐบาลสมัยต่อๆ มาได้ดำเนินนโยบายตามอีกด้วย
1.2 นโยบายต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สร้างสัมพันธไมตรีอันดีต่อนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศตะวันตก โดยส่งเอกอัครราชทูตไปประจำประเทศต่างๆ เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น และการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำยังต่างประเทศนี้ก็ได้ปฏิบัติกันมาจนถึง ปัจจุบัน ผลจากการมีสัมพันธไมตรีอันดีต่อนานานประเทศนี้ ทำให้ความตึงเครียดทางด้านการเมืองของไทยกับต่างประเทศดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจบางประเทศ ซึ่งผิดกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ ต่างๆ จนหมดสิ้น และยังเป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
2. การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศตะวันตก
2.1 อังกฤษ พ.ศ.2398 สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระราชินีนาถของประเทศอังกฤษ ได้แต่งตั้งให้ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็ม อัญเชิญพระราชสาสน์มาขอเจราจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทย ซึ่งไทยก็ให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ
สนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษในครั้งนี้ เรียกว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ทำเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2398 ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1) อังกฤษขอตั้งศาลกงสุลในไทย เพื่อคอยดูแลผลประโยชน์ของคนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ ถ้าเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกับคนไทย หรือกระทำความผิด ให้คนเหล่านี้ขึ้นศาลกงสุลอังกฤษเท่านั้น
2) คนอังกฤษมีสิทธิเช่าที่ดินในไทยได้ แต่ถ้าจะซื้อที่ดินต้องอยู่ในเมืองมาแล้ว 10 ปี ขึ้นไป
3) อังกฤษมีสิทธิสร้างวัดและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี
4) ให้ไทยยกเลิกการเก็บภาษีปากเรือ ให้เก็บแต่เพียงภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 ส่วนภาษีขาออกให้เสียเพียงครั้งเดียว
5) เปิดโอกาสให้พ่อค้าอังกฤษกับราษฎรไทยค้าขายกันอย่างเสรี
6) สินค้าต้องห้าม มี 3 อย่าง คือ ข้าว ปลา เกลือ และอังกฤษสามารถนำฝิ่นเข้ามาขายให้แก่เจ้าภาษีโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเจ้าภาษีไม่ซื้อให้นำกลับออกไป ถ้าลักลอบขายจะถูกริบฝิ่น
7) ถ้าไทยทำสนธิสัญญานี้กับชาติอื่น โดยยกประโยชน์ให้ชาตินั้นๆ นอกเหนือจากที่ทำกับอังกฤษในครั้งนี้ ก็ต้องทำให้อังกฤษด้วย
8) สนธิสัญญานี้จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ ไม่ได้ นอกเหนือจากเวลาล่วงไปแล้ว 10 ปี หลังจากนั้นจะทำการแก้ไขต้องตกลงยินยอมด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และต้องบอกล่วงหน้า 1 ปี
ในการทำสนธิสัญญาครั้งนี้ ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมากมาย เป็นการบีบบังคับโดยที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ข้อเสียเปรียบที่ไทยได้รับ มีดังต่อไปนี้
1. ทำให้ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ (คนในบังคับอังกฤษ หมายถึง คนอังกฤษ คนในชาติที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และยังหมายถึงคนเอเชียที่มาขอจดทะเบียนเป็นคนในบังคับของอังกฤษโดยที่ประเทศ ตนไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษก็ตาม)
2. อังกฤษเป็นชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง ในการมีสิทธิ์พิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากสนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษ ถ้าไทยทำการตกลงกับชาติอื่นๆ
3. สนธิสัญญานี้อังกฤษเป็นฝ่ายได้เปรียบ จึงไม่ยอมทำการแก้ไข
แต่สนธิสัญญานี้ก็ยังพอมี ผลดีอยู่บ้าง คือ
1. ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
2. การค้าขายขยายตัวมากขึ้น ทำให้ฐานะของประชาชนดีขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศก็พลอยดีขึ้นตามไปด้วย
3. ทำให้อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย และสามารถนำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น
2.2 ประเทศอื่นๆ หลังจากไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษแล้ว ได้มีชาติอื่นๆ เข้ามาเจรจาขอทำสนธิสัญญาตามแบบอย่างอังกฤษหลายชาติ ตามลำดับดังต่อไปนี้
1) พ.ศ.2399 ประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียส แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งนายเทาน์เซนต์ แฮริส เป็นทูตมาขอแก้ไขสัญญากันไทย และในปีเดียวกันนี้เอง พระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศสได้ส่ง นายมองตินยี ราชทูตเข้ามาทำสัญญากับไทย
2) พ.ศ.2401 ทำสนธิสัญญากับโปรตุเกสและเดนมาร์ก
3) พ.ศ.2403 ทำสนธิสัญญากับเนเธอร์แลนด์
4) พ.ศ.2404 ทำสนธิสัญญากับปรัสเซีย
5) พ.ศ.2411 ทำสนธิสัญญากับนอร์เว สวีเดน เบลเยี่ยม อิตาลี
6) พ.ศ. 2412 ทำปฏิญญาว่าด้วยการค้าและการเดินเรือกับรุสเซีย
3. การส่งราชทูตไปยุโรป สมัยรัตนโกสินทร์ ใน พ.ศ.2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) และหม่อมราโชทัย อัญเชิญพระราชสาสน์ไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2404 โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นอัครราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส
พ.ศ. 2410 ทรงแต่งตั้ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เป็นอัครราชทูตไทยประจำยุโรปคนแรก โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการทำสนธิสัญญากับประเทศต่างๆ เช่น นอร์เว สวีเดน เบลเยียม และอิตาลี

7. อิทธิพลของอายธรรมตะวันตกที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของไทยในด้านต่างๆ
1. จากการที่ไทยยอมเปิดประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยยอมทำสนธิสัญญาทางการทูตและการค้ากับประเทศตะวันตก ทำให้เกิดผลต่อประเทศ คือ
1.1 ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดตามมาได้โดยปลอดภัย โดยเฉพาะครั้งที่ เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาขอทำสนธิสัญญากับไทย ถ้าไทยไม่ยอมหรือขัดขืนต่อข้อเรียกร้องของอังกฤษ อังกฤษก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด ดังเช่นที่เคยทำกับจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมาแล้ว
1.2 จากข้อตกลงที่ทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนใหญ่ไทยมักเสียเปรียบ ประเทศที่ทำสัญญากับไทยจึงมีความเห็นอกเห็นใจ และยอมผ่อนผันข้อตกลงบางประการให้ไทยบ้าง ทำให้ไทยเสียผลประโยชน์น้อยกว่าที่คิดไว้
1.3 ไทยสามารถนำเอาอารยธรรมและวิชาการความรู้สมัยใหม่ที่ได้รับจากชาติตะวันตก มาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เช่น ด้านการศึกษา ด้านการทหาร ยกเลิกประเพณีเก่าแก่ล้าสมัย ยอมรับความคิดแบบใหม่ ยกเลิกความเชื่อเก่าๆ ที่ไร้เหตุผล ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เล็งเห็นการณ์ไกล
1.4 จาการทำสนธิสัญญาทางด้านการค้าขายกับต่างประเทศ และการเปิดประเทศของไทยนี้ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนยกระดับสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่าง เห็นได้ชัด
แต่สนธิสัญญานี้ไทยก็ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างมากมาย ไทยถูกผูกมัดและจำกัดอำนาจอธิปไตยหลายอย่าง ข้อเสียเปรียบต่างๆ มีดังนี้
1) ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เมื่อคนต่างชาติหรือคนในบังคับต่างชาติกระทำผิดต้องนำขึ้นศาลกงสุลต่างชาติ ซึ่งทำให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องอำนาจทางการศาล และสร้างความเดือดร้อนยุ่งยากในการปกครองเป็นอย่างมาก
2) ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ถ้าสินค้านั้นขายไม่ได้ถูกส่งกลับ ไทยต้องคืนค่าภาษีให้ด้วย ทำให้รายได้ของประเทศน้อยลงกว่าเดิม
3) สนธิสัญญาที่ทำกับนานาประเทศไม่มีกำหนดเวลา ต้องใช้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวิธีที่จะยกเลิกได้เลย นอกจากขอแก้ไข ซึ่งก็เป็นการลำบากมาก เพราะต้องได้รับการยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย
4) หลังจากไทยทำสนธิสัญญากับต่างประเทศแล้ว ทำให้ต้องเลิกการค้าระบบผูกขาด ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียประโยชน์ส่วนนี้ไป
2. สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก เอกอัครราชทูตไทยคนแรก คือ พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ ประจำที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และญี่ปุ่น ยอกจากนี้ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงเสด็จประพาสต่างประเทศ ซึ่งการเสด็จประพาสต่างประเทศนี้ก็ได้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมาย คือ
2.1 ทำให้ไทยได้รับการถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศตะวันตกมา ดัดแปลงและปรับปรุงให้เหมาะสมกับประเทศไทยมากขึ้น เช่น เปลี่ยนการแต่งกายเป็นแบบสากลนิยมไว้ทรงผมแบบฝรั่ง ฯลฯ
2.2 ได้ทรงนำเอาแบบฉบับการปกครองที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทย เช่น การตั้งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ การศึกษา การทหาร การศาล การสื่อสาร การคมนาคม การสุขาภิบาล ฯลฯ
2.3 ทำให้ความตึงเครียดทางด้านการเมืองระหว่างประเทศลดน้อยลง เช่น ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
2.4 การที่พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ส่วนพระองค์กับประมุขของประเทศมหาอำนาจ เช่น เยอรมนี สหภาพโซเวียต ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้
2.5 สัมพันธไมตรีอันดีที่มีต่อกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ เป็นผลดีที่ทำให้ไทยเรียกร้องขอแก้ไขสัญญา และยกเลิกสิทธิสภาพนอาณาเขตได้ในเวลาต่อมา
2.6 เป็นการประกาศความเป็นเอกราชของไทย และเผยแพร่เกียรติคุณของประเทศให้แก่ประเทศต่างๆ ได้รู้จัก
2.7 เกิดบทพระราชนิพนธ์เนื่องจากการเสด็จประพาสต่างประเทศที่สำคัญ ๆ หลายเรื่อง เช่น ไกลบ้าน พระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ที่ทรงพระราชทานแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ฯลฯ
ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทั่วโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญ คือ การเกิดวิกฤตการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งไทยก็มีส่วนเข้าร่วมด้วย และในระหว่างสงครามนี้ไทยได้เปลี่ยนธงชาติมาใช้ธงไตรรงค์ แทนธงช้างและใช้สืบต่อมาจนทุกวันนี้

8. การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมัยรัชกาลที่ 6
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งและครั้งแรกของโลกที่ทำลายชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติ และจิตใจของผู้คนไปมากมาย
1. ประเทศที่เข้าร่วมสงคราม แบ่งออกเป็นสองฝ่าย
1.1 ฝ่ายพันธมิตรสามเส้า หรือมหาอำนาจกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และตุรกี
1.2 ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและไทย ในตอนแรกไทยรักษาความเป็นกลางอย่างมั่นคง แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าอยู่หัว ทรงให้ความสนใจและติดตามข่าวการสงครามอย่างใกล้ชิด พระองค์ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลในการให้ประเทศไทยประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่าย สัมพันธ เพราะถ้าฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ จะมีผลดีในการที่ประเทศไทยจะเรียกร้องสิทธิต่างๆ เช่น ขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับนานาประเทศ จึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 โดยประกาศกระแสพระบรมราชโองการประณามว่า “เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เป็นฝ่ายละเมิดเมตตาธรรมของมวลมนุษย์ มิได้มีความนับถือต่อประเทศเล็ก ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นผู้ก่อกวนความสุขของโลก” ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ
การตัดสินพระทัยของพระองค์ในครั้งนั้น ปรากฏว่าได้รับการคัดค้านจากประชาชนทั่วไป เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีเป็นจำนวนมาก จึงนิยมและเคารพเยอรมนีเป็นเสมือนครูบาอาจารย์ และเยอรมนีไม่เคยสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้คนไทยมาก่อนเลย และในการรบระยะแรก เยอรมนีเป็นฝ่ายได้ชัยชนะมาตลอด ไม่น่าไปได้ว่าเยอรมนีจะเป็นฝ่ายแพ้สงครามในที่สุด ยุทธภูมิในการรบครั้งนี้ก็ไกลมาก ส่วนใหญ่เกิดในทวีปยุโรป ประชาชนโดยทั่วไปมีความเห็นว่า เมืองไทยไม่น่ามีส่วนเกี่ยวพันด้วย ทั้งเมืองไทยก็ยังเป็นประเทศเล็กๆ ควรอยู่อย่างสงบดีกว่า
หลังจากที่ไทยประกาศสงครามกับเยอรมนีแล้ว ไทยก็เริ่มทำการจับเชลยที่เป็นชาวเยอรมนีและออสเตรีย เพื่อป้องกันการก่อการไม่สงบ ยึดเรือเดินทะเลขนาดใหญ่ เรือบรรทุก เรือลำเลียง จับลูกเรือเป็นเชลย และริบทรัพย์เชลยเหล่านี้เสีย ต่อมาไทยได้ส่งกองทหารอาสาเข้าร่วมในสมรภูมิยุโรปด้วย
การส่งทหารไปร่วมรบในครั้งนี้มีผู้มาสมัครเป็นทหารอาสามากมาย ไทยได้จัดส่งทหารไปเป็น 2 กอง คือ กองบินทหารบกประมาณ 400 คนเศษ และกองทหารบกรถยนต์ประมาณ 850 คน เดินทางไปถึงเมืองท่ามาร์แชล ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ซึ่งนับเป็นหน่วยทหารไทยกองแรกในประวัติศาสตร์ที่ยาตราทัพเป็นระยะทางไกลที่ สุดถึงทวีปยุโรป
กองทัพไทยถูกส่งประจำการแนวหน้าทันที ทำหน้าที่ลำเลียงกำลังให้แก่กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเข้มแข็งและกล้าหาญ ทั้งกลางวันและกลางคืนท่ามกลางหิมะ สามารถยึดดินแดนของเยอรมนีทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์มาได้ ร่วมกับกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ให้ตรา “ครัวซ์เดอแกร์” มาประดับธงชัยเฉลิมพล เพื่อเป็นเกียรติแก่กองทหารรถยนต์ไทย กับได้ให้ตรานี้แก่ทหารไทย 2 นายที่ได้ตรวจทางกระสุนปืนของข้าศึกด้วยความกล้าหาญ สำหรับกองบินทหารบกนั้นไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในสมรภูมิครั้งนี้ เพราะสงครามได้ยุติลงเสียก่อน
จากการเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ไทยได้สร้าง “อนุสาวรีย์ทหารอาสา” และ “วงเวียน 22 กรกฎา” ไว้เป็นอนุสรณ์ที่ระลึกไว้ด้วย
2. ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 มีดังนี้
2.1 ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักของนานาประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป
2.2 ทำให้ได้รับการยกย่องว่ามีฐานะและสิทธิเท่าเทียมกับอารยประเทศ
2.3 ทำให้ไทยมีโอกาสเรียกน้องขอแก้สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งยอมยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับไทยเป็นประเทศแรก
2.4 จากประสบการณ์ในการสงคราม ทำให้ไทยสามารถนำมาปรับปรุงวิชาการทหารให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น
2.5 ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 เยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ได้ยกเลิกสนธิสัญญาที่ทำไว้กับประเทศไทยและอำนาจศาลกงสุล
2.6.ไทยได้ผลประโยชน์จากการยึดทรัพย์สินและห้างร้านของเชลย
2.7. ไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ริเริ่มในองค์การสันนิบาตชาติ

9. การเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5
ในช่วง พ.ศ.2394-2453 การล่าอาณานิคมของประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในทวีปเอเชีย ประเทศต่างๆ ในเอเชียจึงต้องตกเป็นอาณานิคมแก่ประเทศในยุโรปหลายประเทศด้วยกัน
ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกอิทธิพลจากการล่าอาณานิคมครอบคลุมมาถึงจน กระทั่งทำให้ต้องเสียดินแดนบางส่วนไป แต่ก็ยังรักษาเอกราชของชาติไว้ ดินแดนทั้งหมดที่ไทยต้องเสียไป มีดังนี้
1. การเสียดินแดนในเขมรหรือเขมรส่วนนอก พ.ศ.2410 (ร.ศ.86) ฝรั่งเศสคิดว่าแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านดินแดนของประเทศเขมร สามารถนำฝรั่งเศสเข้าไปสู่แคว้นยูนานของประเทศจีนได้ ซึ่งฝรั่งเศสจะใช้เป็นที่ระบายสินค้าที่สำคัญ
ขณะนั้นเขมรตกเป็นประเทศราชของไทย ฝรั่งเศสกับไทยจึงเกิดเรื่องบาดหมางใจกันขึ้น โดยฝรั่งเศสอ้างว่า ญวนได้ตกเป็นของฝรั่งเศสและดินแดนต่อจากญวนลงไป โดยที่เขมรยินยอมทำสนธิสัญญาลับยอมอยู่ภายใต้อำนาจของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 แต่ถึงกระนั้นสมเด็จพระนโรดมแห่งเขมรได้ทรงมีหนังสือรายงานกราบบังคมทูลต่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์ทรงถูกบีบบังคับให้ลงนาม แต่ยังมีความจงรักภักดีต่อไทยเสมอ
ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2410 ไทยจึงจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญากับฝรั่งเศสรับรองอย่างเป็นทางการว่าเขมร เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส โดยไทยจะไม่เรียกร้องให้เขมรส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ไทยดังแต่ก่อน ส่วนดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ (เขมรส่วนใน) ก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของไทยตามเดิม
2. การเสียแคว้นสิบสองเจ้าไทย พ.ศ.2431 (ร.ศ. 107) ฝรั่งเศสขอทำสนธิสัญญากับไทย เพื่อตั้งสถานกงสุลที่หลวงพระบาง พ.ศ.2431 โดยให้ นายออกุสต์ ปาวี (Monsieur August Pavie) เป็นกงสุลประจำ ต่อมาพวกฮ่อเข้าปล้นเขตแดนไทยจนถึงหลวงพระบาง ไทยจึงรีบยกทัพไปปราบ ปรากฏว่าสามารถขับไล่พวกฮ่อออกจากเขตแดนไทยได้ทั้งหมด แต่ฝรั่งเศสยังคงยึดแคว้นสิบสองเจ้าไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกไว้ไม่ยอมยกทัพกลับไป โดยอ้างว่าจะคอยปราบปรามพวกฮ่อ
3. การเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ฝรั่งเศสต้องการให้ลาวหรือฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตกเป็นเมืองขึ้นของตน จึงใช้ข้ออ้างว่าญวนและเขมรเคยมีอำนาจเหนือลาวมาก่อน เมื่อญวนกับเขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสดินแดนต่างๆ เหล่านี้ก็ควรตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยใน พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) ฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพเรือมาตามลุ่มแม่น้ำโขงและส่งเรือรบ 2 ลำ มาปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารได้ทำการยิงต่อสู้ไม่สำเร็จ มีคนได้รับบาดเจ็บและเรือเสียหายมาก นายปาวีซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ยื่นคำขาดที่จะปิดน่านน้ำไทย ถ้าไทยไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส และปิดอ่าวไทยทันที่ รัฐบาลไทยจึงต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกประการ เพื่อเอกราชและอธิปไตยของชาติ วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 นี้นับว่าไทยสูญเสียดินแดนครั้งสำคัญและมากที่สุด โดยต้องยอมยกอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส
4. การเสียดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง พ.ศ.2446 (ร.ศ. 122) จากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ทำให้ฝรั่งเศสยึดดินแดนจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของไทย ไว้เป็นประกันถึง 10 ปี ไทยจึงหาทางแลกเปลี่ยนโดยยอมยกเมืองมโนไพรและจำปาศักดิ์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองปากเซ และดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองหลวงพระบางให้ใน พ.ศ.2448 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจันทบุรี แต่กลับไปยึดเมืองตราดไว้แทน
5. การเสียดินแดนมณฑลบูรพา พ.ศ.2449 (ร.ศ. 125) ไทยยอมทำสัญญายกมณฑลบูรพา ซึ่งประกอบด้วยเมือง พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ (เขมรส่วนใน) ให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนกับจังหวัดตราดและเกาะต่างๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ ลงไปจนถึงเกาะกูดที่ฝรั่งเศสยึดไว้
สิ่งสำคัญที่ไทยได้รับจากการลงนามในสัญญานี้ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 คือ ฝรั่งเศสย่อมผ่อนผันให้คนในบังคับฝรั่งเศสที่เป็นชาวเอเชีย ซึ่งมาจดทะเบียนภายหลังวันลงนามในสัญญาให้ขึ้นอยู่ในอำนาจของศาลไทย แต่ศาลกงสุลของฝรั่งเศสก็ยังคงมีอำนาจที่จะเรียกคดีจากศาลไทยไปพิจารณาใหม่ ได้ จนกว่าไทยจะประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนแล้ว
6. อนุสัญญาลับไทยกทำกับอังกฤษ พ.ศ.2440 วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลได้ลงนามในอนุสัญญาลับร่วมกับอังกฤษ โดยตกลงว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยินยอมให้ชาติหนึ่งชาติใด เช่าซื้อหรือถือกรรมสิทธิ์ในดินแดนไทย ตั้งแต่บริเวณใต้ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษตกลงให้ความคุ้มครองทางทหารแก่ไทยกรณีที่ถูกชาติอื่นรุกราน
ผลของอนุสัญญาฉบับนี้ ทำให้อังกฤษมีอิทธิพลทางด้านการเมืองและการค้าในดินแดนไทย ตั้งแต่ตำบลบางสะพานไปจนตลอดแหลมมลายู เพียงชาติเดียว ทำให้ไทยเสียเปรียบมาก และเมื่อไทยถูกฝรั่งเศสบังคับให้ยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส อังกฤษก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด และอนุสัญญานี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิประเทศอื่นๆ ที่มีไมตรีกับไทยอีก ทำให้รัฐบาลต้องพยายามหาวิถีทางจะยกเลิกเสียโดยเร็ว
7. การเสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้อังกฤษ ร.ศ. 128 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ.2452 นายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชาแผ่นดินชาวอเมริกาเสนอให้ไทยแลกดินแดนมลายูกับการยก เลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ของคนในประเทศอังกฤษในประเทศไทย ขอกู้เงินสร้างทางรถไฟสายใต้ และยกเลิกอนุสัญญาลับปี พ.ศ.2440 การดำเนินงานนี้ประสบผลสำเร็จ มีการลงนามในสนธิสัญญา วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2451 มีใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
รัฐบาลไทยยอมยกดินแดนรัฐมลายู คือ ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ ฝ่ายอังกฤษยอมให้คนในบังคับอังกฤษทั้งยุโรปและเอเชีย ซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับกงสุลก่อนทำสัญญานี้ ให้ไปขึ้นกับศาลต่างประเทศ ส่วนคนในบังคับอังกฤษที่จดทะเบียนหลังทำสนธิสัญญาฉบับนี้ให้ไปขึ้นศาลไทย แต่ขอให้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายเป็นชาวยุโรปเข้าร่วมพิจารณาด้วย แต่ศาลกงสุลของอังกฤษก็ยังมีสิทธิจะถอนคดีของคนในบังคับอังกฤษไปพิจารณาได้
สนธิสัญญานี้มีผลกระทั่งไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายให้ครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี ในสัญญานี้ให้ยกเลิกอนุสัญญาลับ พ.ศ.2440 ด้วย และการสร้างรถไฟสายใต้ รัฐบาลอังกฤษจะให้รัฐบาลไทยกู้เงิน 5 ล้านปอนด์ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ แต่ต้องให้ชาวอังกฤษเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้เอง เพราะอังกฤษต้องการให้บรรจบกับทางรถไฟในมลายูของอังกฤษ