วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ด้านการปกครอง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รูปภาพของ nathavut
nathavut - 22 กรกฎาคม 2008
ด้านการปกครอง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ด้านการปกครอง

1. การปกครองในราชธานี หรือระเบียบบริหาราชการส่วนกลาง
ยังคงใช้ตาม แบบกรุงศรีอยุธยาคือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 ฝ่ายได้แก่
1.1 ฝ่ายทหาร คือเสนาบดีกรมพระกลาโหม ( สมุหพระกลาโหม ) มีอำนาจหน้าที่ บังคับบัญชา ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง
1.2 ฝ่ายพลเรือน คือ เสนาบดีกรมมหาดไทย ( สมุหนายก ) มีอำนาจหน้าที่ บังคับบัญชา ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ ใช้ตราราชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง
นอกจากนี้ยัง มีตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์ ช่วยบริหารงาน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย
1.2.1 กรมพระนครบาล ( กรมเวียง )
1.2.2 กรมพระธรรมาธิกรณ์ ( กรมวัง )
1.2.3 กรมพระโกษาธิบดี ( กรมคลัง )
1.2.4 กรมพระเกษตราธิการ ( กรมนา )
กรม เวียง หรือ กรมเมือง เสนาบดีคือ พระยายมราช มีอำนาจหน้าที่ปกครองดูแลราษฎรในเขตกรุง รักษาความสงบเรียบร้อยและปราบโจรผู้ร้าย มีตราพระยมทรงสิงห์ เป็นสัญลักษณ์ประจำตำแหน่ง
กรมวัง เสนาบดี คือ พระยาธรรมา มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการในราชสำนัก จัดการพระราชพิธีทั่วไป รวมทั้งพิจารณาคดีที่พระมหากษัตริย์จะต้องวินิจฉัยด้วย จึงได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมาธิกรณ์ หมายถึง ผู้วินิจฉัยคดีพิพาท ให้เป็นธรรม ใช้ตราเทพยดาทรงพระนนทิ การ (เทวดาทรงพระโค ) เป็นสัญลักษณ์
กรมคลัง หรือ กรมท่า มีอำนาจหน้าที่ บังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก ใช้ตราบัวแก้วเป็นสัญลักษณ์ แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็น ฝ่ายการเงิน มีหัวหน้าคือ พระยาราชภัคดี
ฝ่าย การต่างประเทศ มีหัวหน้าคือ พระยาศรีพิพัฒน์
ฝ่ายตรวจบัญชีและดูแลหัว เมืองชายทะเลตะวันออก มีหัวหน้าคือ พระยาพระคลัง
กรมนา มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษานาหลวง เก็บหางข้าว ค่านา จัดเก็บและรักษาเสบียง อาหารสำหรับพระนคร พิจารณาคดีเกี่ยวกับที่นา ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นสัญลักษณ์

2. การปกครองหัวเมือง หรือ ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค การปกครองหัวเมือง คือการบริหารราชการแผ่นดินตามหัวเมืองต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
2.1 หัวเมืองชั้นใน
2.2 หัวเมืองชั้นนอก
2.3 หัวเมืองประเทศราช

หัวเมือง ชั้นใน เดิมเรียกว่าเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน เมืองชั้นใน จะตั้งอยู่รอบเมืองหลวง ถือว่าเป็นบริวารของเมืองหลวง เมืองชั้นในไม่ได้เป็นเมืองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีเจ้าเมืองปกครอง มีแต่ผู้รั้ง หรือ จ่าเมือง ทำหน้าที่ดูแล ไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง การบริหารงานต้องรับคำสั่งจากเสนาบดีจัตุสดมภ์ หรือฟังคำสั่งจากเมืองหลวง หัวเมืองชั้นใน มีความสำคัญเป็นเมือง ระดับชั้นจัตวา

หัวเมือง ชั้นนอก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร เมืองเหล่านี้จัดแบ่งเป็นระดับชั้น ตามขนาด จำนวนพลเมือง ความสำคัญ แบ่งเป็นชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี และอาจมีเมืองเล็ก ๆ ( เมืองชั้นจัตวา ) อยู่ใต้สังกัด เจ้าเมืองเหล่านี้ มีอำนาจสิทธิ์ขาดในเมืองของตน แต่ต้องปฏิบัติตามพระราชโองการและนโยบายจากเมืองหลวงตามเขตความรับผิดชอบ กล่าวคือหัวเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือและภาคอิสาน อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหนายก
หัวเมืองที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ อยูในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม
หัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออก อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมท่า ( พระยาพระคลัง )
หัวเมืองที่สังกัด กรมท่า มี 9 เมือง ได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี บางละมุง ระยองจันทบุรี ตราด
เมืองชั้นเอก พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมืองเอง ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ พิษณุโลก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ถลาง และสงขลา
เมืองชั้นโท ตรี และจัตวา เสนาบดีที่รับผิดชอบเป็นผู้แต่งตั้งเจ้าเมือง

หัวเมือง ประเทศราช หรือ เมืองขึ้น เป็นเมืองของชาวต่างชาติต่างภาษา หรือ ประเทศเหล่านั้นยอมอยู่ภายใต้การคุ้มครองของไทย มีเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ ปกครองกันเอง ตามจารีตประเพณีของแต่ละชาติ การเป็นเจ้าเมืองหรือกษัตริย์ จะต้องบอกหรือเข้ามากราบบังคมทูล ขอให้เป็นผู้แต่งตั้งให้ โดยเมืองขึ้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการ และต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาให้ โดยปรกติจะจัดส่ง 3 ปีต่อครั้ง ต้องเกณฑ์ทัพมาช่วยถ้ามีศึกสงคราม
ประเทศราชในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้แก่ ล้านนา (เชียงใหม่ ) ล้านช้าง หรือ ลาว ( หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ ) เขมร ( กัมพูชา ) หัวเมืองมลายู ( ปัตตานี ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู )

ด้านกฎหมาย และการศาลไทย
กฎหมายไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียที่เรียกว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ หรือคัมภีร์ธรรมสัตกัมของอินเดีย ซึ่งไทยได้รับการถ่ายทอดมาจากมอญอีกต่อหนึ่ง ในการตัดสินคดีความนั้นจะมีพรมหมณ์ ที่เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง จำนวน 12 คนไปผู้ชี้ตัวบทกฎหมายว่าใครผิดใครถูก จากนั้นจึงส่งเรื่องไปให้ตุลาการบังคับคดี หรือ ลงโทษผู้กระทำผิดตามที่ลูกขุนตัดสิน
พระธรรมศาสตร์ เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิหน้าที่ของบุคคลทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งเทียบได้กับกฎหมายแม่บทของไทยในปัจจุบันคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะตราพระราชกำหนดกฎหมายใด ๆ ต้องคำนึงถึงพระธรรมศาสตร์ จะทรงตรากฎหมายให้ขัดกับพระธรรมศาสตร์ไม่ได้ กฎหมายที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการปกครองประเทศอีกประเภทหนึ่งคือ พระราชศาสตร์ เป็นพระราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์ เป็นบทบัญญัติปลีกย่อย จากพระธรรมศาสตร์ เรียกว่า สาขาคดี
ในการไต่สวน พิจารณาคดีในสมัยโบราณ เนื่องจากยังขาดความรู้ในเรื่องการสอบสวน จึงนิยมใช้วิธีการแบบจารีตนครบาล โดยการทรมานผู้ต้องหาให้รับสารภาพ เช่น ตอกเล็บ เฆี่ยนตี ลุยเพลิง เสี่ยงเทียน บีบขมับ
การแก้ไขกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2347 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้ชำระกฎหมาย อันเนื่องมาจาก อำแดงป้อมฟ้องหย่า นายบุญศรีผู้เป็นสามี มีอาชีพเป็นช่างเหล็กหลวง ซึ่งอำแดงป้อมมีชู้ แต่กลับมาฟ้องหย่าสามี ในสมัยนั้นถ้าภรรยาฟ้องหย่าตามกฎหมายภรรยาจะได้ทรัพย์สินก่อนแต่งงานเป็นของ ตน รัชกาลที่ 1 เห็นว่าไม่ถูกต้อง จึงโปรดให้ชำระกฎหมายใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดข้าทูลละอองธุลีพระบาท ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 นาย ฝ่ายลูกขุน 3 นาย ฝ่ายราชบัณฑิต 4 นาย รวม 11 นาย ร่วมกันชำระพระราชกำหนดบทพระอัยการในแผ่นดิน ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ลงมา โดยจัดเป็นหมวดหมู่และปรับปรุงให้ยุติธรรมยิ่งขึ้น เมื่อชำระเสร็จ เรียบร้อยแล้ว ได้โปรดให้อาลักษณ์คัดลอกไว้รวม 3 ชุด โดยเก็บรักษาไว้ที่ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง ศาลหลวงชุดหนึ่ง โดยให้ประทับตราพระราชสีห์ พระคชสีห์ และตราบัวแก้ว ไว้เป็นสำคัญทุกเล่ม ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกว่า กฎหมายตราสามดวง หรือ ประมวล กฎหมายรัชกาลที่ 1

กฎหมาย ตราสามดวง
คชสีห์

ราชสีห์

บัวแก้ว

ด้านสังคม
(1) การควบคุมกำลังคน
เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ๆ สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังคนอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังคนทั้งการก่อสร้างพระนครใหม่ การป้องกันบ้านเมือง และต้องการไว้รบเพื่อเตรียมทำสงคราม ฉะนั้นระบบไพร่จึงมีบทบาทสำคัญมาก
ระบบไพร่ หรือ การควบคุมกำลังคนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังคงอาศัยระบบไพร่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นรากฐาน จากสภาพทางเศรษฐกิจที่การค้ากับต่างประเทศกำลังเจริญรุ่งเรืองกว่าแต่ก่อน ตลอดจนการเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก มีผลทำให้ระบบไพร่ในสมัยนี้ลดการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดลง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานประจำ เข้าเดือน ออกเดือน รวมแล้วปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์แรงงาน 6 เดือน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 การเข้าเวรทำงานของไพร่หลวงได้รับการผ่อนปรนให้ทำงานน้อยลง โดยทำงานให้รัฐเพียงปีละ 4 เดือน สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ลดลงอีกเหลือเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น และในจำนวนเวลา 3 เดือนที่ต้องเข้าเวรนี้ ถ้าผู้ใดจะส่งเงินมาเสียเป็นค่าราชการแทนการเข้าเวรก็ได้ เดือนละ 6 บาท ปีละ 18 บาท สำหรับไพร่สมนั้น ให้เข้ามารรับราชการด้วยเช่นกันปีละ 1 เดือน หรือจ่ายเป็นเงิน ปีละ 6 บาท
นอกจากนั้น ยังยอมให้ไพร่ที่กระทำผิดแล้วมามอบตัวจะไม่ถูกลงโทษ ให้ไพร่สามารถเลือกขึ้นสังกัดมูลนายได้ตามสมัครใจ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามแก่ไพร่หลวงทุกคน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาไพร่หลวงจะได้รับการยกเว้นอากรค่าน้ำ อากรตลาดและอากรสมพัตสร ภายในวงเงิน 4 บาท (1 ตำลึง) และจ่ายเฉพาะเงินภาษีอากรส่วนที่เกินกว่า 4 บาทขึ้นไป การผ่อนปรนกับไพร่นั้น ยังคงต่อเนื่องมาในสมัยหลัง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงยอมให้ไพร่ถวายฎีกาโดยตรงได้ ในกรณีที่ถูกข่มเหงจากมูลนาย โดยไม่จำเป็นต้องร้องเรียนผ่านตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
(2) โครงสร้างชนชั้นของสังคม
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โครงสร้างชนชั้นของสังคมยังคงคล้ายกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ มี 2 ชนชั้น ได้แก่ ชนชั้นปกครอง และขุนนาง โดยมีรายละเอียดดังนี้
พระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการของพระองค์เป็นกฎหมาย พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะดุจสมมติเทพ
พระบรมวงศานุวงศ์
พระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์ ตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- สกุลยศ หมายถึง ตำแหน่งที่สืบเชื้อสายมาโดยกำเนิด ซึ่งสกุลยศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มี 3 ตำแหน่ง ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า
- อิสสริยยศ หมายถึง ตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานหรือเลื่อนยศให้ ซึ่งอิสสริยยศที่มีตำแหน่งสูงที่สุด คือ พระมหาอุปราช
ขุนนาง
ขุนนาง เป็นกลุ่มบุคคลที่ช่วยเหลือกิจการบริหารราชการแผ่นดินของพระมหากษัตริย์ ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ขุนนางได้รับการยกเว้นการเกณฑ์แรงงาน และขุนนางในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอิทธิพลและบทบาททางการเมืองสูง
ไพร่
ไพร่ หมายถึง ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง ที่มิได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และมิได้เป็นทาส นับเป็นชนชั้นที่มีจำนวนมากที่สุดของสังคม ไพร่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่สำคัญ คือ ไพร่สม ไพร่หลวง และไพร่ส่วย เหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา
ไพร่หลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้รับการผ่อนผันลดหย่อนเวลาเกณฑ์แรงงาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้ไพร่เหล่านี้ได้ผลิตสินค้าเพื่อขายสู่ ตลาดมากขึ้น ในสมัยนี้เนื่อง่จากการค้าเจริญรุ่งเรือง ไพร่ส่วยมีความสำคัญมาก เพราะรัฐบาลเร่งเอาส่วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อนำไปค้าขาย นับเป็นภาระหนักอย่างหนึ่งของไพร่ จึงมีคนจำนวนมากหนีระบบไพร่ โดยการไปเป็นไพร่สมของเจ้านายหรือขุนนางผู้มีอำนาจหรือขายตัวเป็นทาส จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ประกาศห้ามขุนนางหรือเจ้านายซ่องสุมกำลังคน
ทาส
ทาส เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคม ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ไม่ต้องเข้าเวรรับราชการเช่นไพร่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้ระบุประเภทของทาสไว้ 7 ประเภท คือ
1. ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์
2. ทาสในเรือนเบี้ย คือ เด็กที่เกิดมาในขณะที่พ่อแม่เป็นทาส
3. ทาสที่ได้มาจากฝ่ายบิดามารดา คือ ทาสที่ได้รับเป็นมรดกสืบทอด
4. ทาสท่านให้ คือ ทาสที่มีผู้ยกให้
5. ทาสที่ได้เนื่องมาจากนายเงินไปช่วยให้ผู้นั้นพ้นโทษปรับ
6. ทาสที่มูลนายเลี้ยงไว้ในยามข้าวยากหมากแพง
7. ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากสงคราม
พระสงฆ์
พระสงฆ์ เป็นกลุ่มสังคมที่มาจากทุกชนชั้นในสังคม มีหน้าที่อบรมสั่งสอนประชาชน เป็นครูผู้สอนหนังสือและวิทยาการต่าง ๆ แก่เด็กผู้ชาย

ด้านศาสนา
(1) การสังคายนาพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก คือ คัมภีร์บรรจุพระธรรมคำสั่งสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนา รัชกาลที่ 1 ทรงให้มีการชำระสะสางพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดมหาธาตุ และจารึกลงในใบลาน คัดลอกเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น ปิดทองทั้งปกหน้าและด้านข้าง เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ หรือ ฉบับทองทึบ อัญเชิญประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก หอพระมนเทียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(2) การกวดขันพระธรรมวินัย
รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ออกกฎหมายสำหรับสงฆ์ขึ้นหลายฉบับ ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สำรวจความประพฤติของพระสงฆ์ เมื่อพบว่าพระสงฆ์รูปใดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย ก็ให้จับสึกเสีย
(3) การสถาปนาธรรมยุติกนิกาย
ในสมัยรัชกาลที่ 3 สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฏ ได้เสด็จออกผนวช ทรงพบว่าคำสอน และข้อปฏิบัติต่าง ๆ ทางศาสนาพุทธวิบัติไปเป็นอันมาก พระภิกษุก็มิได้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน จึงมีพระประสงค์จะสังคายนาคณะสงฆ์เสียใหม่ ทรงตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. 2372 แต่มิได้เลิกคณะสงฆ์เดิม และเรียกคณะสงฆ์เดิมว่า ฝ่ายมหานิกาย
(4) การส่งสมณทูตไปลังกา
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ส่งสมณทูตไปลังกา ทั้งหมด 9 รูป โดยมีพระอาจารย์ดี และพระอาจารย์เทพ เป็นหัวหน้า และได้นำหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาจากลังกา 6 ต้น ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระสงฆ์เดินทางไปลังกาเพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาตรวจสอบกับของไทย 2 ครั้ง คือ ใน พ.ศ. 2385 และ พ.ศ. 2387
(5) การสร้างและบูรณะวัดวาอาราม
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในเขตพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับวัดพระศรีสรรเพชญสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต วัดนี้จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดพระแก้ว"
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ใช้เวลา 12 ปี ถือกันว่า เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลา 16 ปี โปรดเกล้าฯ ให้มีการประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต และช่างทุกสาขาให้ช่วยกันชำระตำรา และจารึกไว้บนแผ่นศิลาตามเสา และผนังรายรอบบริเวณวัด เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้า วัดนี้จึงจัดว่าเป็นวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย
- วัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระศรีศากยมุนี หรือ พระโต
- วัดอรุณราชวราราม เดิมเรียกวัดแจ้ง รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และได้สร้างพระอุโบสถใหม่ วัดนี้มีพระปรางค์องค์ใหญ่ที่งดงาม และได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม
ประเพณี
1. พระราชพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการสมโภชพระราชวังที่เพิ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1
2. พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสาบานตนของพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์โปรดฯ ให้เคารพพระรัตนตรัยก่อนพระเชษฐบิดร
3. พระราชพิธีโสกันต์ คือ ประเพณีตัดผมจุกของพระราชโอรส พระราชธิดา หรือ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง
4. พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ในสมัยรัชกาลที่ 1 โปรดที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินวัดที่พระองค์ทรงแต่งตั้งพระ ราชาคณะไปปกครอง
5. พระราชพิธีจรดพระนังคัลและพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่เกี่ยวกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวไทย
6. พระราชพิธีวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นพิธีหลวงอีกพิธีหนึ่ง
7. พระราชพิธีอาพาธพินาศ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่จะต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค

ประเพณี เกี่ยวกับ
พระมหากษัตริย์ ประเพณี เกี่ยวกับ
บ้านเมือง ประเพณี เกี่ยวกับ
พระพุทธศาสนา ประเพณี เกี่ยวกับ
พราหมณ์ ประเพณี เกี่ยวกับ
ชาวบ้าน
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์ พิธีวิสาขบูชา พิธีโล้ชิงช้า พิธีแต่งงาน
พระราชพิธีโสกันต์ สัตยา พิธีอาสาฬหบูชา พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีขึ้นบ้านใหม่
พระราชพิธีพระเมรุมาศ พระราชพิธีอาพาธพินาศ พิธีมาฆบูชา พิธีโกนจุก พิธีทำขวัญนาค
พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคล พิธีเข้าพรรษา ออกพรรษา พิธีเผาศพ
พระราชพิธีสมโภชช้างเผือก พิธีบวชนาค พิธีตรุษสงกรานต์
เทศน์มหาชาติ พิธีสารท
สวดภาณยักษ์

วรรณกรรม
ราชสำนักจัดว่าเป็นศูนย์กลางของวรรณกรรมและเป็นที่ชุมนุมของกวี
สมัยรัชกาลที่ 1 วรรณคดีที่สำคัญ ได้แก่ รามเกียรติ์ ราชาธิราช และสามก๊ก
สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงเป็นกวี พระราชนิพนธ์ที่ได้รับการยกย่องมากที่สุด คือ อิเหนา กวีเอกคนสำคัญในสมัยนี้ คือ สุนทรภู่ ผลงานที่เด่นชัดที่สุด คือ เรื่องพระอภัยมณี
สถาปัตยกรรม
แบบอย่างของสถาปัตยกรรม ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเฉพาะสมัยรัชกาลที่ 1 และ รัชกาลที่ 2 ได้เจริญรอยตามแบบอย่างสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมด ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมศิลปะการก่อสร้างแบบจีน โดยเฉพาะรูปแบบการสร้างวัด
จิตรกรรม
งานจิตรกรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนใหญ่เป็นจิตรกรรมฝาผนัง และเลียนแบบอย่างมาจากกรุงศรีอยุธยา จิตรกรรมฝาผนังรุ่งเรืองมากที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 3 และมีลักษณะศิลปะแบบจีนเข้ามาปะปนอยู่ด้วย จิตรกรรมที่สำคัญและมีชื่อเสียง ได้แก่ ภาพเขียนในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ภาพฝาผนังที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น
การศึกษา
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศูนย์กลางของการศึกษาที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ วัง และ วัด การเรียนหนังสือภาไทย เดิมยังไม่มีแบบเรียน เพิ่งมีเมื่อหมอบรัดเลย์ พิมพ์หนังสือประถม ก.กา ออกจำหน่าย ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีโรงเรียนเป็นหลักแหล่ง ต้องไปศึกษาตามสำนักต่าง ๆ การเรียนที่สำคัญอีกแบบหนึ่ง คือ การศึกษาวิชาชีพตามบรรพบุรุษ หรือตามอาชีพที่มีในท้องถิ่นของตน เช่น ช่างทอง ช่างถม เป็นต้น
เศรษฐกิจ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น




สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เนื่องจากเป็นช่วงระยะของการก่อร่างสร้างตัวและไทยยังต้องทำสงครามกับพม่า อีก ซึ่งทำให้ฐานะของประเทศไม่มั่นคงนัก พระองค์จึงสนับสนุนให้ทำการค้ากับต่างประเทศ เช่น จีนและโปรตุเกส
ตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศนับว่าฟื้นตัวขึ้นมาจากเดิมมาก การเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในช่วงระยะนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการค้ากับต่างประเทศ รายได้สำคัญของรัฐบาลสามารถแบ่งได้ 2 ทาง คือ

1. รายได้จากการค้ากับต่างประเทศ
กรุงเทพฯ นับว่าอยู่ในทำเลที่เหมาะสมในการติดต่อค้าขายทางเรือ เพราะตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากทะเล ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระ เจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) ซึ่งทรงบังคับบัญชากรมท่า มีบทบาทในการส่งเสริมการค้าโดยเฉพาะกับจีน จนสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเรียกพระนามว่า "เจ้าสัว" ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง การค้าขายกับต่างประเทศจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าใน 2 รัชกาลแรก
รายได้จากการค้ากับต่างประเทศที่สำคัญ สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้คือ
(1) การค้าสำเภาหลวง พระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐขึ้นอยู่กับพระคลัง (พระยาโกษาธิบดี) มีหน้าที่รับผิดชอบในการแต่งเรือสำเภาหลวงบรรทุกสิ่งของที่เป็นส่วย เช่น ดีบุก พริกไทย ครั่ง ขี้ผึ้ง ไม้หอม ฯลฯ รวมทั้งสินค้าอื่น ๆ ที่จัดซื้อหาเพิ่มเติมออกไปค้าขายกับจีนและประเทศใกล้เคียง เช่น เขมร ญวน และมลายู แล้วรับซื้อสินค้าต่างประเทศที่ต้องการใช้ภายในประเทศ เช่น ผ้า ถ้วยชาม มาจำหน่ายแก่ประชาชนอีกต่อหนึ่ง ผลกำไรจาก การค้าสำเภาหลวงนับเป็นรายได้ที่สำคัญยิ่งของแผ่นดินในสมัยรัตนโกสินทร์ตอน ต้น
(2) กำไรจากการผูกขาดสินค้า พระคลังสินค้ามีหน้าที่ควบคุมการค้ากับต่างประเทศ เช่นในสมัยอยุธยา โดยผูกขาดสินค้าบางอย่าง เช่น รังนก ฝาง ดีบุก งาช้าง พริกไทย เนื้อไม้ ตะกั่ว และพลวง เป็นสินค้าผูกขาดของหลวง ราษฎรผู้ใดมีสินค้าดังกล่าว ให้นำมาขายแก่พระคลังสินค้า เท่านั้น ห้ามเอกชนซื้อขายกับพ่อค้าต่างชาติโดยตรง ถ้าชาวต่างประเทศต้องการซื้อสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อผ่านพระคลังสินค้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลาง
(3) ภาษีปากเรือ เป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งเก็บจากเรือสินค้าของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของไทย กำหนดเก็บภาษีตามส่วนกว้างที่สุดของเรือ โดยคิดอัตราภาษีเป็นวาและเรียกเก็บในอัตราที่ต่างกัน เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือของจีนเสียวาละ 40 บาท เรือกำปั่นฝรั่ง เสียวาละ 118 บาท ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อไทยทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2369 ได้มีข้อตกลงว่ารัฐบาลไทยจะเก็บภาษีจากพ่อค้าอังกฤษรวมเป็นอย่างเดียวตาม ความกว้างของปากเรือ เรือสินค้าที่บรรทุกสินค้ามาขาย เก็บวาละ 1,700 บาท ส่วนเรือที่ไม่ได้บรรทุกสินค้าเข้ามาขาย เก็บวาละ 1,500 บาท
(4) ภาษีสินค้าขาเข้า เก็บจากสินค้าที่พ่อค้าต่างประเทศนำเข้ามาจำหน่าย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าแพรจีน เครื่องแก้ว เครื่องลายคราม ใบชา อัตราการเก็บไม่แน่นอน ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม เช่น เรือของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีเข้ามาค้าขายเป็นประจำ จะได้รับสิทธิพิเศษ ในสมัยรัชกาลที่ 2 เรือสินค้าของชาวจีนเสียภาษีสินค้าขาเข้าร้อยละ 4 ถ้าเป็นเรือสินค้าของชาติตะวันตก เสียภาษีร้อยละ 8 ของราคาสินค้า
(5) ภาษีสินค้าขาออก เก็บ จากสินค้าที่ส่งออกในอัตราที่ต่างกันไปตามชนิดของสินค้า เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 2 รังนกนางแอ่นกับเขากวางอ่อน เสียภาษีร้อยละ 20 ของราคาสินค้า งาช้างหาบละ 10 สลึง เกลือเกวียนละ 4 บาท หนังวัว หนังควาย กระดูกช้าง หาบละ 1 บาท

2. รายได้ภายในประเทศ
ส่วนใหญ่คงเป็นแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีอากร แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
(1) จังกอบ หมายถึง ภาษีสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ โดยการเก็บตามสัดส่วนสินค้าในอัตรา 10 หยิบ 1 หรือเก็บเงินตามขนาดของยาน พาหนะที่ขนสินค้าผ่านด่าน ส่วนใหญ่วัดตามความกว้างที่สุดของปากเรือ
(2) อากร เป็นเงินที่เก็บจากผลประโยชน์ที่ราษฎรได้จากการประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ไม่ใช่การค้าขายโดยตรง เช่น การทำนา ทำสวน หรือเงินที่พ่อค้าเสียให้แก่รัฐบาลในการให้สัมปทานการประกอบการต่าง ๆ เช่น การให้เก็บของป่า การต้มสุรา อัตราที่เก็บประมาณ 1 ใน 10 ของผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้
(3) ส่วย เป็นเงินหรือสิ่งของที่ไพร่หลวงที่ไม่ต้องการเข้าเวรรับราชการส่งมาให้รัฐ แทนการเข้าเวรรับราชการ โดยรัฐเป็นผู้กำหนดว่าให้ไพร่หลวงต้องเข้าเวรภายใน 3 เดือน ผู้ใดไม่ต้องการจะเข้าเวร จะต้องเสียเป็นเงินเดือนละ 6 บาท
(4) ฤชา เป็นเงินค่าธรรมเนียมที่รัฐเรียกเก็บจากราษฎร ในกิจการที่ทางราชการจัดทำให้ เช่น การออกโฉนด เงินปรับสินไหม ที่ฝ่ายแพ้จะต้องชดใช้ให้แก่ฝ่ายชนะ รัฐก็จะเก็บไปครึ่งหนึ่งเป็นค่าฤชา เรียกว่า "เงินพินัยหลวง"
นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภาษีบางอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม ในสมัยรัชกาลที่ 2 และ รัชกาลที่ 3 ที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการปรับปรุงภาษี ดังนี้
การเดินสวน คือ การให้เจ้าพนักงานที่ได้รับการแต่งตั้งออกไปสำรวจเรือกสวนของราษฎรว่าได้จัด ทำผลประโยชน์ในที่ดินมากน้อยเพียงใด แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานการเสียภาษีอากร ซึ่งการจัดแบ่งภาษีการเดินสวนจัดแบ่งตามประเภทของผลไม้
การเดินนา คือ การให้เจ้าพนักงานออกไปสำรวจที่นาของราษฎร แล้วออกหนังสือสำคัญให้เจ้าของถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการเสียภาษีอากรที่เรียกว่า "หางข้าว" คือ การเก็บข้าวในอัตราไร่ละ 2 ถัง และต้องนำไปส่งที่ฉางหลวงเอง
เงินค่าผูกปี้ข้อมือจีน เดิมชาวจีนได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในขณะที่ราษฎรไทยที่เป็นไพร่และ ชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยต้องถูกสักข้อมือเป็นไพร่และต้องทำงานให้แก่มูลนาย และพระเจ้าแผ่นดิน รัฐบาลไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 เห็นควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากแรงงานจีน จึงได้พิจารณาเก็บเงินค่าราชการจากชาวจีน 1 บาท 50 สตางค์ ต่อ 3 ปี จีนที่มาเสียค่าแรงงานแล้ว จะได้รับใบฎีกาพร้อมกับได้รับการผูกปี้ข้อมือด้วยไหมสีแดงประทับตราด้วยครั่งเป็นตราประจำ เมือง ซึ่งแตกต่างกันออกไป เช่น เมืองเพชรบุรีเป็นรูปหนู กาญจนบุรี เป็นรูปบัว การผูกปี้ข้อมือจีนนี้ เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้เป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชบัญญัติลักษณะการผูกปี้ข้อมือจีน พ.ศ. 2443 ออกใช้บังคับทั่วทุกมณฑล และได้ยกเลิกไปในตอนปลายรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2451
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นหลายชนิด เช่น ภาษีพริกไทย น้ำตาล เป็นต้น ในสมัยนี้มีระบบการเก็บภาษีแบบใหม่เกิดขึ้น เรียกว่า "ระบบเจ้าภาษีนายอากร" หมายถึง การที่รัฐ เปิดประมูลการเก็บภาษี ผู้ชนะการประมูล คือ ผู้ที่เสนอผลประโยชน์สูงสุดให้แก่รัฐบาล มีอำนาจไปดำเนินการเก็บภาษีแทนรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง ผู้ที่ประมูลภาษี เรียกว่า "เจ้าภาษีนายอากร" ส่วนมากเป็นชาวจีนผู้มีฐานะดีทางเศรษฐกิจจากการลงทุนค้าขาย ผลดีของระบบเจ้าภาษีนายอากร คือ รายได้จากการเก็บภาษีอากรได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น แต่มีข้อเสีย คือ เป็นระบบผูกขาดที่ให้แก่ชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะมีการขูดรีดภาษีจากราษฎรได้

ความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกของไทยในสมัย รัชกาลที่ 1-3
การค้ากับต่างประเทศใน สมัยรัชกาลที่ 1 ทำการค้าสำเภา ส่วนใหญ่จะทำการค้ากับจีน นอกจากนี้ ยังมีชวา มลายู อินเดีย ดังนั้น เพื่อความสะดวกในการค้า จึงทรงแต่งตั้งชาวจีนให้ดำรงตำแหน่งขุนนาง เป็นพระ ยาโชฎึกราชเศรษฐี ตำแหน่งเจ้ากรมท่าซ้าย เพื่อติดต่อการค้ากับจีน และ ทรงแต่งตั้งผู้นับถือศาสนาอิสลามให้เป็นพระยาจุฬา ราชมนตรี ตำแหน่งกรมท่าขวา เพื่อติดต่อการค้ากับมลายู ชวา อินเดีย และอาหรับ
การค้ากับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้มีการจัดสำเภาไทยไปค้าขายกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียกว่าร้อยลำ นอกจากนั้น ก็ทำการค้ากับชาวตะวันตก เช่น โปรตุเกส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฮอลันดา ซึ่งกิจการการค้าของหลวงนั้น พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญจนได้รับพระราชทานสมญานามว่า "เจ้าสัวกรมท่า" ในสมัยนี้ อังกฤษได้ส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ด เข้ามาเจรจาเรื่องการค้ากับไทย ขอให้ยกเลิกการผูกขาดพระคลังสินค้า และให้กำหนดภาษีขาเข้าและขาออกให้แน่นอน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้
การค้ากับต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยนี้ อังกฤษได้ส่งร้อยเอกเฮนรี เบอร์นี เข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับไทย โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้
(1) อนุญาตให้พ่อค้าไทยและอังกฤษติดต่อการค้าได้โดยเสรี แต่สินค้าอาวุธพ่อค้าต้องขายให้รัฐบาลไทยเท่านั้น
(2) การเก็บภาษีปากเรือให้เก็บตามความกว้างของปากเรือ ถ้าเรือมีสินค้า เก็บวาละ 1,700 บาท ถ้าเรือไม่มีสินค้า เก็บวาละ 1,500 บาท
(3) พ่อค้าจะต้องทอดสมอเรือสินค้าที่ปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไทยตรวจบัญชีค้นสินค้า และนำสินค้าอาวุธเก็บรักษาไว้ จึงจะอนุญาตให้เข้าไปได้
(4) คนอังกฤษทุกคน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยทุกประการ ถ้าทำความผิดจะถูกลงโทษตามกฎหมาย การทำสนธิสัญญาครั้งนี้ยังไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอังกฤษ อังกฤษจึงพยายามแก้ไขสนธิสัญญา โดยการส่ง เซอร์ เจมส์ บรูค เข้ามาเจรจาใน พ.ศ. 2383 แต่ไม่สำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น