วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

พระราชประวัติ

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (บางกลางหาว) กับนางเสือง มีพระนามเดิมว่า พระราม เมื่อพระชนมายุ 19 พรรษา ได้ตามเสด็จพระบิดาไปในการสงครามระหว่างสุโขทัย กับเมืองฉอด ทรงช่วยพระบิดาทำยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พระบิดาจึงเฉลิมพระนามให้เป็น “ พระรามคำแหง "

ในช่วงรัชสมัยพ่อขุนบางเมือง ซึ่งเป็นพระเชษฐา พระรามคำแหงทรงเป็นกำลังสำคัญในการรบปราบปรามเมืองชายแดนหลายแห่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๒๒

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

- ทรงขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวางกว่ารัชสมัยใดๆ

- ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยใน พ.ศ. ๑๘๒๖

- ทรงส่งเสริมการค้า ทั้งการค้าภายในและการค้าภายนอก เช่น ให้งดเว้นการเก็บจกอบหรือภาษีผ่านด่าน

- ทรงบำรุงศาสนา เช่น ให้นิมนต์พระสงฆ์นิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราชมาเป็นพระสังฆราช

และริเริ่มการนิมนต์พระสงฆ์มาแสดงธรรมในวันพระ

- ทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด เช่น ให้ผู้เดือดร้อนมาสั่นกระดิ่ง ถวายฎีกาได้ ให้ทายาทมีสิทธิได้รับมรดก

จากพ่อแม่ที่เสียชีวิตไป เป็นต้น

- ทรงสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐใกล้เคียง ได้แก่ ทรงเป็นพระสหายกับพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา

พญางำเมือง แห่งแคว้นพะเยา ทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับพระเจ้าฟ้ารั่ว แห่งอาณาจักรมอญและทรงเป็นรัฐบรรณาการกับจีน

พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)

พระราชประวัติ

พญาลิไท หรือ พระยาลิไท หรือ พระศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรม-ราชาธิราช หรือพระมหาธรรมราชา ๑ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทและพระราชนัดดา(หลานปู่) ของพ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๐ แต่ไม่ทราบปีสิ้นสุดรัชสมัยที่แน่นอน สันนิษฐานว่าอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๖๖ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงเป็นแบบฉบับของกษัตริย์ในคติธรรมราชา ทรงปกครองบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนสุโขทัยกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา และทรงปฏิบัติพระองค์ชักนำชนทั้งหลายให้พ้นทุกข์ หลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่าพระองค์มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี ได้แก่ วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีชิ้นแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๘๘ ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์หลังจากทรงเป็นรัชทายาทครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ ๘ ปี จึงเสด็จมาครองสุโขทัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๐ โดยต้องใช้กำลังทหารเข้ามายึดอำนาจเพราะที่สุโขทัยหลังสิ้นรัชกาลพ่อขุนงัวนำถมแล้วเกิดการกบฏการสืบราชบัลลังก์ ไม่เป็นไปตามครรลองครองธรรม

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

- การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เพราะสุโขทัยหลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยกแคว้นหลายแคว้นในราชอาณาจักรแยกตัวออกห่างไป ไม่อยู่ในบังคับบัญชาสุโขทัยต่อไป

- พญาลิไททรงคิดจะรวบรวมสุโขทัยให้กลับคืนดังเดิม แต่ก็ทรงทำไม่สำเร็จ นโยบายการปกครองที่ใช้ศาสนาเป็นหลักรวมความเป็นปึกแผ่นจึงเป็นนโยบายหลักในรัชสมัยนี้

- ทรงสร้างเจดีย์ที่นครชุม (เมืองกำแพงเพชร) สร้างพระพุทธชินราชที่พิษณุโลก

- ทรงออกผนวช เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๕ การที่ทรงออกผนวช นับว่าทำความมั่นคงให้พุทธศาสนามากขึ้น ดังกล่าวแล้วว่า หลังรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว บ้านเมืองแตกแยก วงการสงฆ์เองก็แตกแยก แต่ละสำนักแต่ละเมืองก็ปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เมื่อผู้นำทรงมีศรัทธาแรงกล้าถึงขั้นออกบวช พสกนิกรทั้งหลายก็คล้อยตามหันมาเลื่อมใสตามแบบอย่างพระองค์ กิตติศัพท์ของพระพุทธศาสนาในสุโขทัยจึงเลื่องลือไปไกล พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่หลายรูปได้ออกไปเผยแพร่ธรรมในแคว้นต่างๆ เช่น อโยธยา หลวงพระบาง เมืองน่าน พระเจ้ากือนา แห่งล้านนาไทย ได้นิมนต์พระสมณะเถระไปจากสุโขทัย เพื่อเผยแพร่ธรรมในเมืองเชียงใหม่ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือพญาลิไท มีมเหสีชื่อพระนางศรีธรรม ทรงมีโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อมา คือ พระมหาธรรมราชาที่สอง ปีสวรรคตของกษัตริย์ พระองค์นี้ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่คงอยู่ในระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๗

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระราชประวัติ

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิบดีที่ 2 (เจ้าสามพระยา) กับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งสุโขทัย พระองค์จึงเป็นเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณบุรีและราชวงศ์พระร่วง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของอยุธยา

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง พ.ศ. ๑๙๙๔ พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัยถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือราชธานี จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่ายทหาร สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา ได้แก่ พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง พ.ศ. ๑๙๙๘ เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐) ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้านนา ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031 ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐาธิราช)

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๐๗๒ ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ โปรตุเกสได้เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยา นับเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ไทยจึงเริ่มเรียนรู้ศิลปวิทยาของชาวตะวันตกโดยเฉพาะด้านการทหาร ทำให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพระราชนิพนธ์ตำราพิชัย-สงครามของไทยได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ทรงให้ทำสารบัญชี คือ การตรวจสอบจัดทำบัญชีไพร่พลทั้งราชอาณาจักร นับเป็นการสำรวจสำมะโนครัวครั้งแรก โดยทรงตั้งกรมสุรัสวดีให้มีหน้าที่สำรวจและคุมบัญชีไพร่พล

ทางด้านศาสนา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ไว้ในเขตพระราชฐานและให้หล่อ พระศรีสรรเพชญ์ สูง 8 วา หุ้มทองคำ ไว้ในพระมหาวิหารของวัดด้วย ในรัชสมัยนี้อยุธยาและล้านนายังเป็นคู่สงครามกันเช่นเดิมเนื่องจากกษัตริย์ล้านนา คือ พระเมืองแก้ว (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘) พยายามขยายอาณาเขตลงมาทางใต้ จนถึง พ.ศ. ๒๐๖๕ มีการตกลงเป็นไมตรีกัน สงครามจึงสิ้นสุดลง

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในราชวงศ์สุโขทัยกับพระวิสุทธิกษัตริย์ พระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๘ ที่เมืองพิษณุโลกเมื่อพระชนมายุได้ ๙ พรรษา ทรงถูกส่งไปเป็นตัวประกันที่กรุงหงสาวดี เพราะพม่ายึดเมืองพิษณุโลกได้ ทรงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะพระราชบุตรบุญธรรมเป็นเวลา ๗ ปี จน พ.ศ. ๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระมหาธรรมราชาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองขึ้นของกรุงหงสาวดี และอนุญาตให้พระนเรศวรกลับกรุงศรีอยุธยา และได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลกและมีตำแหน่งอุปราช ระหว่างนั้นทรงทำสงครามกับเขมรและพม่า เพื่อป้องกันอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเห็นดังนี้จึงคิดกำจัดพระนเรศวร แต่พระองค์ทรงทราบจึงทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง รวมเวลาที่กรุงศรีอยุธยาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเป็นเวลา ๑๕ ปี หลังจากประกาศอิสรภาพก็ทรงทำสงครามกับพม่าหลายครั้งและได้กวาดต้อนผู้คนจากหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้เป็นกำลังได้มาก ต่อมาในพ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระธรรมราชาสวรรคต พระนเรศวรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์และทรงสถาปนาพระเอกาทศรถพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช พระราชภารกิจของพระองค์ ได้แก่ การทำศึกสงคราม โดยเฉพาะสงครามครั้งสำคัญ คือ สงครามยุทธหัตถี ที่ทรงรบกับพม่าที่ตำบลหนองสาหร่าย ซึ่งพระองค์ทรงมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดและถือเป็นพระเกียรติสูงสุด เป็นวีรกรรมสุดยอดของกษัตริย์ แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบแท้ หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา ๑๕๐ ปี กรุงศรีอยุธยาไม่ถูกรุกรานจากพม่าอีก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งล้านนา ล้านช้าง ไทใหญ่ และกัมพูชา รวมถึงพม่า ครั้งสุดท้าย คือ การเดินทัพไปตีเมืองอังวะ ซึ่งพระองค์ประชวร และสวรรคตที่เมืองหาง ใน พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กอบกู้เอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยา ประชาชนชาวไทยจึงยกย่องพระองค์ให้เป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระราชประวัติ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กับพระอัครมเหสี ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕ เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาทั้งด้านวิชาการ การกีฬา การล่าสัตว์ การขี่มา ขี่ช้าง และการแข่งเรือ พระองค์มีแม่นม ๒ คน คอยดูแลอภิบาล คือ เจ้าแม่วัดดุสิตซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตผู้มีชื่อเสียง แม่นมอีกคนหนึ่ง เป็นมารดาของพระเพทราชา พ.ศ. 2198 พระเจ้าปราสาททองประชวรหนักจึงทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัย พระโอรสองค์โต ซึ่งประสูติจากพระสนม เจ้าฟ้าชัยครองราชย์ได้ประมาณหนึ่งปี ก็ถูกปลงพระชนม์โดยพระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอา พระอนุชา จากนั้นพระศรีสุธรรมราชาก็ขึ้นครองราชย์ และแต่งตั้งให้พระนารายณ์เป็นพระมหาอุปราชวังหน้า หลังจากนั้นประมาณ ๒ เดือนพระนารายณ์ก็ได้ปลงพระชนม์สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา เนื่องจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาคิดจะเอาเจ้าฟ้าหญิงศรีสุวรรณหรือพระกนิษฐภคินีร่วมพระชนนีของพระนารายณ์มาเป็นพระชายา หลังจากนั้นพระนารายณ์ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของพระราชวงศ์ปราสาททอง ใน พ.ศ. ๒๑๙๙ ขณะพระชนมายุได้ ๒๕ พรรษา ทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ หรือสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ แต่คนทั่วไปนิยมเรียก สมเด็จพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีความเจริญรุ่งเรืองมาก

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ



- การลดส่วยและงดเก็บภาษีอากรจากราษฎรเป็นเวลา ๓ ปีเศษ

- การประกาศใช้กฎหมายพระราชกำหนดและกฎหมายเพิ่มเติมลักษณะรับฟ้อง

- การส่งเสริมงานด้านวรรณกรรม หนังสือที่แต่งในสมัยนี้ เช่น สมุทรโฆษคำฉันท์ โคลงทศรถสอนพระราม โคลงพาลี-สอนน้อง โคลงราชสวัสดิ์ เพลงพยากรณ์กรุงเก่า เพลงยาวบางบท รวมถึงวรรณกรรมชิ้นสำคัญ คือ โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็น ยุคทองแห่งวรรณกรรม ของไทยยุคหนึ่ง

- การทำศึกสงครามกับเชียงใหม่และพม่า พ.ศ.๒๒๐๓ และได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ลงมาอยุธยาด้วย

- ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น เจริญรุ่งเรืองมาทั้งประเทศตะวันออก เช่น จีน อินเดีย และประเทศตะวันตกที่สำคัญ ได้แก่ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส ทั้งด้านการเชื่อมสัมพันธไมตรีและการป้องกันการคุกคามจากชาติต่างๆ เหล่านี้จากพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังกล่าว จึงทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง อีกทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคสำคัญด้านศิลปวัฒนธรรมยุคหนึ่งด้วย สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. ๒๒๓๑ ที่เมืองลพบุรี ราชธานีแห่งที่สองที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ พระบิดามีพระนามเดิมว่า ทองดี พระมารดาชื่อ หยก

เมื่อทรงมีพระชันษา ๒๑ พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ๓ เดือน เมื่อลาสิกขาก็ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงได้รับตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร ประจำเมืองราชบุรี พระองค์ทรงมีความชำนาญในการรบอย่างยิ่ง จึงได้รับพระราชทานปูนกำเหน็จความดีความชอบให้เลื่อนเป็นพระราชวรินทร์ พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราชว่าที่สมุหนายก เจ้าพระยาจักรี และในที่สุดได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม เมื่อทรงตีได้เวียงจันทร์ พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) จากเมืองจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย ต่อมาเกิดเหตุจลาจลได้สำเร็จ ข้าราชการและประชาชนจึงอัญเชิญเป็นพระมหากษัตริย์แทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชกรณียกิจ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักการทหารที่ยอดเยี่ยม ทรงแต่งตั้งให้เจ้านายที่เคยผ่านราชการทัพศึกมาทำหน้าที่ช่วยในการปกครองบ้านเมืองโปรดเกล้าฯ

- ให้ชำระกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยของบ้านเมือง คือ กฎหมายตราสามดวง

- รวมถึงการชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์อันเป็นเครื่องส่งเสริมความมั่นคงของกรุงรัตนโกสินทร์

- นอกจากนี้พระองค์ยังคงทรงส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ ทั้งด้านวรรณกรรมที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์ โดยพระราชนิพนธ์ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บทละครเรื่องอุณรุท บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องดาหลัง เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง นอกจากด้านวรรณกรรมแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงส่งเสริมศิลปะด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และนาฏกรรม

- ภายหลังที่ครองกรุงรัตนโกสินทร์เพียง ๓ ปี ได้เกิดศึกพม่ายกทัพมาตีเมืองไทย พระองค์ทรงจัดกองทัพต่อสู้จนทัพพม่าแตกพ่าย ยังความเป็นเอกราชให้กับแผ่นดินไทยมาจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย เป็น มหาราช อีกพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและทรงเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ที่ปกครองบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขจวบจนปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะเสด็จสวรรคตนั้น พระองค์มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงปรึกษายกราชสมบัติให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชตามราชประเพณีก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน จึงได้ดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปถึง ๒๖ พรรษา ทำให้พระองค์มีเวลาทรงศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงทราบเหตุการณ์โลกภายนอกอย่างกระจ่างแจ้ง ทั้งยังได้เสด็จธุดงค์จาริกไปนมัสการปูชนียสถานตามหัวเมืองห่างไกล ที่ทำให้ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงมีมติให้อัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์สมบัติ ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

พระราชภารกิจที่สำคัญ



- การทำสนธิสัญญากับอังกฤษ เพื่อแลกกับเอกราชของประเทศ ยอมให้ตั้งสถานกงสุลและมีสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขต ยอมเลิกระบบการค้าผูกขาดเป็นการค้าเสรี เก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยชักสาม

- ทรงปรับปรุงการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีการตั้งข้าหลวงปักปันพระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันตกร่วมกับอังกฤษ ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาสำรวจทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันออก จ้างนายทหารยุโรปมาฝึกสอนวิชาทหารแบบใหม่ ทรงให้ต่อเรือกลไฟขึ้นใช้หลายลำและผลจากการทำสัญญากับอังกฤษทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมาก

- พระองค์จึงขยายพระนครออกไปทางทิศตะวันออก ได้มีการขุดคลองและสร้างถนนขึ้นมากมาย เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร

- ได้เกิดกิจการแบบตะวันตกขึ้นหลายอย่าง เช่น ใช้รถม้าเดินทาง มีตึกแบบฝรั่ง มีโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ตั้งโรงกษาปณ์ ฯลฯ - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะทรงเห็นว่าไม่มีผลต่อกิจการแผ่นดิน

- พระองค์ได้ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นเกือบ 500 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เต็มไปด้วยมนุษยธรรม

- พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงยอมรับวิชาการทางตะวันตกมาใช้ เช่น การถ่ายรูป การก่อสร้าง และงานเครื่องจักร เป็นต้น ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์ คือ ทรงคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลา ๑๐.๓๒ นาฬิกา เวลาดวงอาทิตย์มืดเต็มดวง คือ ๖ นาที ๔๖ วินาที และเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

ในการเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้นทำให้พระองค์ประชวรด้วยไข้จับสั่นอย่างแรง และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา รวมเวลาครองราชย์ได้ ๑๗ ปีเศษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เสวยราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑

ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงบรรลุนิติภาวะ พระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง ๔๒ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ
เพื่อให้ไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศและรอดพ้นจากภัยจักรวรรดินิยมที่กำลังคุกคามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ขณะนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาและปรับปรุงประเทศทุกด้าน เช่น

การปกครอง

ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ตามอย่างตะวันตก แยกการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง แบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ การปกครองส่วนภูมิภาคโดยระบบเทศาภิบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล กฎหมายและการศาล

ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบศาลยุติธรรม เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก ยกเลิกจารีตนครบาล

ที่ใช้วิธีโหดร้ายทารุณในการไต่สวนคดีความ ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย การปรับปรุงกฎหมายและการศาลนี้เป็นลู่ทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในภายหลัง

สังคมและวัฒนธรรม

ทรงยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ ให้ประชาชนมีอิสระในการดำรงชีวิต ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา

การเงิน การธนาคารและการคลัง

ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัว มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยมากขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงให้ออกใช้ธนบัตรและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนเป็นครั้งแรก ทรงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาและสนับสนุนให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น ในด้านการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก และปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น

สาธารณูปโภค

ทรงให้สร้างถนนเพิ่มเติม ขุดคลองใหม่และลอกคลองเดิม เพื่อใช้ในการคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก ทรงริเริ่มให้จัดกิจการสาธารณูปโภคหลายอย่างขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น รถไฟ รถราง โทรเลข ไปรษณีย์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา การ

แพทย์และการสาธารณสุข

ทรงปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น ตั้งโรงพยาบาลวังหลัง (ศิริราช) สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย) กรมสุขาภิบาล โรงเรียนสอนแพทย์ โรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล เป็นต้น

การศึกษา

มีการสร้างโรงเรียนหลวง เพื่อให้การศึกษาแก่ราษฎรและทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่างประเทศ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อฝึกคนให้มีความรู้สำหรับเข้ารับราชการ

การศาสนา

โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ จัดตั้งสถานศึกษาสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย และให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก

การทหาร

ทรงปรับปรุงหน่วยทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ทันสมัย ตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงกลาโหม ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนนายเรือ และตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้เป็นครั้งแรก

ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากในขณะนั้นคนไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ยังมีน้อย รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและรับราชการเป็นจำนวนมาก ส่งวนใหญ่เป็นชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ อเมริกัน เยอรมัน ฝรั่งเศส เบลเยียม เดนมาร์ก ที่เป็นชาวตะวันออกก็มีอยู่บ้าง เช่น ญี่ปุ่น ลังกา ปรากฏว่าชาวต่างประเทศที่จ้างมาทำงานได้ผลดีสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา เจ้าพระยานอกจากนี้รัชกาลที่ 5 ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ โดยได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ของอังกฤษและเกาะชวาอาณานิคมของฮอลันดา ต่อมาเสด็จประพาสอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทรงนำความเจริญของดินแดนเหล่านี้มาประกอบในการพัฒนาประเทศไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๑ เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ กว่า ๑๐ ประเทศ เป็นผลดีต่อฐานะของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ๒ - ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ และรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ ในโอกาสเดียวกันทรงได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับประเทศต่าง ๆ ด้วย แม้ว่ารัชกาลที่ ๕ จะทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้าน และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรอดพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง ดังเช่นเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นปะทะกันที่ปากน้ำ สมุทรปราการ ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เป็นต้น รัชกาลที่ ๕ ต้องทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า พระปิยมหาราช อันหมายถึงว่า ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย และในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ พรรษาแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นของโลกทางสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น