บรรยากาศของเมืองบางกอก เมื่อ ๑๔๗ ก่อนนั้น งดงามและเชื่องช้า ในสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าว
ผู้คนชาวสยาม ยังเป็นที่แปลกตาของผู้พบเห็นจากต่างถิ่น
ชายไว้ผมเป็นกระจุกอยู่กลางศีรษะและนุ่งผ้าผืนเดียว ไม่สวมเสื้อหมวกและรองเท้า
หญิงไว้ผมไม่ต่างจากชาย เพียงแต่มีจอนยาวข้างหู มีผ้าผืนเล็กๆปิดหน้าอก
การแต่งกายของชาวบ้านเป็นแบบง่ายๆ เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนจัด
มีข้อห้ามอย่างเคร่งครัดที่จะไม่ให้ประชาชนใส่ผ้าที่มีลวดลายสวยงามเหมือนอย่างชนชั้นสูง
เนื่องจากแม่น้ำเป็นสายเลือดสำคัญของชาวสยามในยุคนี้ ดังนั้นบ้านเรือนจึงเต็มไปด้วยเรือนแพนับพันๆหลัง ถ้าไม่ใช่เรือนแพก็จะเป็นเรือนไม้ไผ่ปลูกหยาบๆ อยู่ริมน้ำเช่นกัน โดยในสมัยนั้นประชาชนยังไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูก บ้านทรงไทย เพราะเป็นลักษณะบ้านของเชื้อพระวงศ์และขุนนาง เท่านั้น
ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ห่างจากพระราชวัง เป็นที่ตั้งของ Super market ที่ใหญ่ที่สุดในขณะนั้น เสียงพ่อค้าแม่ขายร้องขายของกันเซ็งแซ่ตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น ที่นี่มีทุกอย่างทั้งของสดของแห้งที่บรรทุกมากับเรือ คนทุกระดับชั้นจะมาพบแสดงตัวกันที่นี่ ทั้งที่มาซื้อของ มาพบปะกัน รวมถึงการเล่นการพนัน สนธิสัญญาต่างๆที่รัฐบาลสยามทำกับชาติตะวันตกทำให้รัฐบาลเสียรายได้เป็นจำนวนมาก การพนันจึงเป็นรายได้ทดแทนที่รัฐบาลยอมรับด้วยความยินดี
ตลาดจึงเป็นตัวแทนที่ดี ในการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสยามในยุคนั้น เรียกว่า ที่นี่คือโรงละครโรงใหญ่ของชาวสยามในยุคนั้นก็คงไม่ผิดมากนัก หนำซ้ำยังเป็นเครื่องวัดความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองอีกด้วย ตลาดจึงอยู่ในสายตาของนักประเมินคุณค่า “เมืองขึ้น” มากกว่าที่อื่นใด ตรงข้ามกับตลาดแห่งนี้คือ ‘Landmark’ ของบางกอก พระเจดีย์สูงใหญ่ที่สร้างเสร็จเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาในรัชกาลก่อน (เจดีย์วัดอรุณ) บริเวณรายรอบของพระเจดีย์องค์นี้คือที่ตั้งของบ้าน ซึ่งใช้เป็นที่ทำงานของขุนนางที่มีอำนาจสูงสุดของสยาม หรือจะเรียกให้ง่ายก็คือ ‘หมู่บ้านรัฐบาล’ นั่นเอง
จากฝั่งแม่น้ำมองเข้ามาทางทิศตะวันออกจะเห็นหอนาฬิกาได้อย่างเด่นชัด นั่นคือ หมู่พระมหามณเฑียร ที่ประทับของ ‘คิงมงกุฎ’ (ร. ๔) องค์ประมุขของประเทศ แม้จะมีชาวสยามไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ที่มีนาฬิกาซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับมากกว่าใช้ดูเวลา แต่หอนาฬิกาแห่งนี้สร้างเสร็จก่อน บิกเบน ในกรุง ลอนดอนหลายปีทีเดียว และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้น คือ ‘คิงมงกุฎ’ แห่งสยามพระองค์นี้ ทรงคำนวณเวลามาตรฐาน Bangkok meantime เป็นเวลาส่วนตัวของเราเอง ไว้ก่อนที่โลกจะมีเวลามาตรฐาน กรีนิช อยู่หลายสิบปีทีเดียว
ตอนนั้นลองติจูดของเราก็คือลองติจูดที่ 0 องศา ไม่ใช่ 105 องศาตะวันออกอย่างทุกวันนี้ เราถือว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คือเวลาเราจะไปไหนก็วัดจากเราเป็น 0 องศา แต่เราก็ต้องเปลี่ยนเพราะกรีนนิชมันใหญ่กว่า มันคืออังกฤษ แต่สิ่งนี้ยังไม่ได้ทำให้ชาวสยามหลุดพ้นไปจากการเป็นคนป่าเถื่อนอยู่ดี
ภายในพระบรมมหาราชวัง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเคารพสูงสุดของชาวสยาม เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ดำเนินต่อเนื่องมาหลายร้อยปี เป็นแหล่งรวมศิลปวิทยา ความเชื่อ ประเพณีอันงดงามไว้ได้อย่างไม่เสื่อมสูญ ที่นี่เป็นเมืองอีกเมืองหนึ่ง แต่เป็นโลกลึกลับของคนภายนอก และเป็นกำแพงสูงสำหรับคนที่อาศัยอยู่ภายใน พระมเหสี พระธิดาและพระราชโอรสที่ยังเด็ก รวมถึงเหล่าพระสนมนางในของพระมหากษัตริย์ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จนกลายเป็น ‘หมู่บ้านในนิทาน’ ของบุคคลภายนอกที่มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส
ทั้งนี้ พระราชฐานชั้นใน อันเป็นที่ประทับของฝ่ายใน ประกอบไปด้วย ตำหนักที่ประทับของพระมเหสีเทวีและพระราชธิดา เรือนที่อยู่ของเจ้าจอม เรือนแถวของพนักงานชั้นผู้ใหญ่ และแถวเต๊ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพนักงาน ข้าหลวง โดยบรรดาเจ้าจอมและนางใน จะมีกิจกรรมต่างๆทำร่วมกันอาทิเช่น การร้อยมาลัย การทำเครื่องหอม การปักผ้า เป็นต้น ฉะนั้นภายในพระราชฐานจึงเป็นอีกโลกหนึ่งของผู้หญิงชั้นสูงของสยาม เป็นโรงเรียนอบรมบ่มนิสัย สอนวิชาการต่างๆที่หญิงสยามไม่มีโอกาสได้เรียนเมื่ออยู่โลกภายนอก ที่นี่ จึงเป็น ‘ความใฝ่ฝัน’ ของบรรดาพ่อแม่ที่มีลูกสาวทุกคน ที่ต้องการให้ลูกสาวได้มาอยู่ในที่แห่งนี้ ด้วยเหตุที่ใครก็ตามได้เข้ามาอยู่ ณ ที่นี่ เมื่อกลับออกไปสู่โลกภายนอกอีกครั้ง จะได้รับการยกย่องจากสังคมภายนอกว่าเป็นหญิงมีสกุล เป็น ‘สาวชาววัง’ ผลก็คือเธอจะมีอนาคตดีกว่าหญิงสยามทั่วไป
ด้านการสัญจรของชาวสยามส่วนใหญ่มักจะใช้เส้นทางน้ำเป็นหลัก ส่วนการสัญจรทางบกนั้นมักไม่ค่อยเป็นที่นิยม เนื่องจากว่าสภาพพื้นที่เป็นที่รกปกคลุมไปด้วยต้นไม้ จนมาถึงสมัยที่มีการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญตามประเทศทางตะวันตก คือในช่วยรัชกาลที่ 4-5 เนื่องจากทรงเห็นความสำคัญของการสัญจรทางบก จึงได้มีการสร้างถนนหนทางในพระนครขึ้นหลายสาย ทำให้การสัญจรทางบกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตคนมากขึ้นตามไปด้วย การสัญจรทางบกในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีรถราสะดวกสบายเหมือนในสมัยนี้นั้น การเดินทางทำได้โดยการใช้ เกวียน รถม้า และรถลาก หรือที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า ‘รถเจ๊ก’ เพราะส่วนใหญ่คนที่มารับจ้างลากรถเป็นคนจีนนั่นเอง
ส่วนเรื่องอาหาร คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก ทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว ส่วนกับข้าวหรืออาหารเสริมอื่นๆ ก็มักเป็นสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ ในอดีตปลาเป็นอาหารประเภทเนื้อที่คนไทยนิยมกินมากที่สุด แปรรูปได้หลายอย่าง นอกจากนั้นผักและผลไม้ก็ยังให้บริโภคมากมาย แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกมาในรูปของการค้าขาย หากแต่มีไว้กินกันในครอบครัว หรือแบ่งปันกันในหมู่ญาติมิตรและแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ตนไม่มี อาหารที่ทุกบ้านจะต้องมีติดครัวประจำบ้าน คือ ‘เครื่องบริโภค’ ได้แก่ ข้าว ปลา ปู กุ้ง เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ กะปิ น้ำปลา พริก หอม กระเทียม ซึ่งรสชาติอาหารของคนไทยจะมี 2 แบบ คือรสจืดแบบคนจีนและรสเค็มปนเผ็ดแบบคนไทย
ทั้งนี้การกินของคนไทย ในมุมมองของชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า คนไทยอดออมและไม่พิถีพิถันในเรื่องอาหารการกินเลย ยิ่งเมื้อเปรียบเทียบกับชาวตะวันตกซึ่งยึดถืออาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนต่างชาติจะมองว่า คนไทยกินน้อยและกินอาหารที่ไม่ค่อยมีคุณประโยชน์ แถมยังรังเกียจในบางครั้ง ที่คนไทยกินปลาร้า แมลง หนู หรือสัตว์แปลกๆที่ไม่เคยเห็น แต่ก็เป็นวิถีชีวิตของพวกไพร่ที่พบได้ทั่วไปในสยาม
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒธรรมไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนไทยทุกคนมีวิธีการ ดังนี้
1. ศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งที่มีการรวบรวมไว้แล้วและยังไม่ได้ศึกษา เพื่อทราบความหมาย และความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมรดกของไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งความรู้ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต เพื่อให้เห็นคุณค่า ทำให้เกิดการยอมรับ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ต่อไป
2. ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนและตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญ ของวัฒนธรรม ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้การรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4. ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการใช้ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติ และมีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
6. จัดทำระบบเครื่อข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ สามารถเลือกสรร ตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตทั้งนี้สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน
2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย
3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม
4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ
6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น