วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

การติดต่อกับชาวต่างชาติของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ มีผลต่อสังคมไทยหลายด้าน วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยวัฒนธรรมบางอย่างได้ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างรับมาใช้โดยตรง

1. วัฒนธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมไทยมีมาตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรของคนไทย เช่น สุโขทัย ล้านนา ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมที่รับจากอินเดีย จีน เปอร์เซีย เพื่อนบ้าน เช่น เขมร มอญ พม่า โดยผ่านการติดต่อค้าขาย การรับราชการของชาวต่างชาติ การทูต และการทำสงคราม
สำหรับตัวอย่างอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกที่มีต่อสังคมไทยมีดังนี้
1. ด้านอักษรศาสตร์ เช่น ภาษาไทยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากภาษาขอม รับภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจากหลายทางทั้งผ่านพระพุทธศาสนา ผ่านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย เขมร นอกจากนี้ ในปัจจุบันภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น
2. ด้านกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมายอินเดีย ได้แก่ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยรับผ่านมาจากหัวเมืองมอญอีกต่อหนึ่ง และกลายเป็นหลักของกฎหมายไทยสมัยอยุธยาและใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
3. ด้านศาสนา พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากแว่นแคว้นโบราณ เช่น ทวารวดี หริภุญชัยได้นับถือพระพุทธศาสนา หรือสุโขทัย รับพระพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชและได้ถ่ายทอดให้แก่อาณาจักรอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยตลอดมา นอกจากนี้ คนไทยยังได้รับอิทธิพลในการนับถือศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวมุสลิมนำมาเผยแผ่ รวมทั้งคริสต์ศาสนาที่คณะมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
4. ด้านวรรณกรรม ในสมัยอยุธยาได้รับวรรณกรรมเรื่องรามเกรียรติ์ มาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย เรื่องอิเหนาจากชวา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมจีน เช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว วรรณกรรมของชาติอื่น ๆ เช่น ราชาธิราชของชาวมอญ อาหรับราตรีของเปอร์เซีย เป็นต้น
5. ด้านศิลปวิทยาการ เช่น เชื่อกันว่าชาวสุโขทัยได้รับวิธีการทำเครื่องสังคโลกมาจากช่างชาวจีน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ศรีลังกา
6. ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยสมัยก่อนนิยมกินหมากพลู รับวิธีการปรุงอาหารที่ใส่เครื่องแกง เครื่องเทศจากอินเดีย รับวิธีการปรุงอาหารแบบผัด การใช้กะทะ การใช้น้ำมันจากจีน ในด้านการแต่งกาย คนไทยสมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนแบบชาวอินเดีย เป็นต้น

2. วัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
ไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะแรกเป็นความก้าวหน้าด้านการทหาร สถาปัตยกรรม ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ดัวอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยที่สำคัญมีดังนี้
1. ด้านการทหาร เป็นวัฒนธรรมตะวันตกแรก ๆ ที่คนไทยรับมาตั้งแต่อยุธยา โดยซื้ออาวุธปืนมาใช้ มีการสร้างป้อมปราการตามแบบตะวันตก เช่น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหาร มีการตั้งโรงเรียนนายร้อย การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก
2. ด้ารการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง เช่น พระอนุชาและขุนนางได้เรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงจ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษและความรู้แบบตะวันตกในราชสำนัก
ในสมัยรัชการลที่ 5 มีการตั้งโรงเรียนแผนใหม่ ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นมาจัดการศึกษาแบบใหม่ ทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศต่าง ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับและการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ด้านวิทยาการ เช่น ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเริ่มในสม้ยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งโรงพยาบาล โรงเรียนฝึกหัดแพทย์และพยาบาล ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้เป็นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน
ด้านการพิมพ์ เริ่มจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387 ชื่อ "บางกอกรีคอร์เดอร์" การพิมพ์หนังสือทำให้ความรู้ต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น ในด้านการสื่อสารคมนาคม เช่น การสร้างถนน สะพาน โทรทัศน์ โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป รถยนต์ รถไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก
4. ด้านแนวคิดแบบตะวันตก การศึกษาแบบตะวันตกทำให้แนวคิดทางการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐแพร่เข้ามาในไทย และมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ วรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากก็ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการประพันธ์จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคมไทย เช่น การเข้าใจวรรณกรรมรูปแบบนวนิยาย เช่น งานเขียนของดอกไม้สด ศรีบูรพา
5. ด้านวิถีการดำเนินชีวิต การรับวัฒนธรรมตะวันตกและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารแทนการใช้มือ การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น การใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกหรือปรับจากตะวันตก การปลูกสร้างพระราชวัง อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก ตลอดจนนำกีฬาของชาวตะวันตก เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ เข้ามาเผยแพร่ เป็นต้น

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นับว่าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่ นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ให้วัฒนธรรมไทยในยุคนี้ด้วย นับได้ว่าเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อยุธยาให้กลับเจริญรุ่งเรือง หลังจากประสบกับวิกฤตการณ์สงครามสู้รบระหว่างไทยกับพม่ามาแล้ว

สภาพทางสังคมของไทยตั้งแต่อดีต ได้ผูกพันกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมจึงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความเจริญรุ่งเรืองทางศาสนาด้วย ศิลปกรรมและวรรณกรรมต่างๆ ที่บรรจงสร้างด้วยความประณีตก็เกิดจากแรงศรัทธาทางศาสนาทั้งสิ้น

1. การทำนุบำรุงทางด้านพระพุทธศาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 1 (พ.ศ.2325-2352) พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ใน พ.ศ.2331 โดยใช้เวลาประชุมกันประมาณ 5 เดือน
ในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชกุศลอย่างใหญ่โตในวันวิสาขบูชา เหมือนดังที่เคยทำกันในสมัยอยุธยา คือ ทำบุญกันทั่วไปเป็นเวลา 3 วัน สัตว์ที่เคยถูกฆ่าเป็นอาหารนั้นโปรดให้ปล่อยให้หมดภายใน 3 วัน มิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเด็ดขาด
ในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2367-2394) พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์ทรงทำนุบำรุงคณะสงฆ์ ตลอดจนทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปและวัดวาอารามมากมาย ในสมัยนี้ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ได้มีโอกาสเผยแผ่ในประเทศไทยโดยพวกมิชชันนารี ทำให้คนไทยบางส่วนหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ขณะเดียวกันในวงการพระพุทธศาสนาของไทยก็มีการเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปข้อวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์ไทยให้สอดคล้องกับคำสอนในพระไตรปิฏก โดยเจ้าฟ้ามงกุฏ ซึ่งทรงผนวชมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 และได้เสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ.2370-2394) ทรงเป็นผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการปฏิรูปครั้งนั้น จนกระทั่งได้ทรงตั้งนิกายใหม่ เรียกว่า "ธรรมยุติกนิกาย"
2. การทำนุบำรุงศิลปกรรม

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 1 ในบรรดาศิลปกรรมของไทยซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสนพระทัยมากนั้น ได้แก่ บรรดาตึกรามต่างๆ ที่สร้างขึ้น ล้วนมีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงามทั้งภายในและภายนอก ทั้งโดยปูนและโดยไม้แกะสลัก ตึกที่ทรงให้จัดสร้างขึ้นส่วนมากเป็นวัด เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีพระที่นั่งต่างๆ เช่น พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย, พระที่นั่งไพศาลทักษิณ, พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน, พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นต้น
รัชกาลที่ 1 ทรงสนพระทัยทางด้านวรรณคดี ดังนั้นในสมัยนี้จึงมีบทวรรณคดีที่สำคัญหลายเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ นอกจากนี้ก็มีการแปลวรรณกรรมต่างชาติมาเป็นภาษาไทย เช่น หนังสือสามก๊ก ,ราชาธิราช เป็นต้น

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 2 ทรงสนพระทัยในเรื่องการก่อสร้างและตกแต่งตึกรามต่างๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้สร้าง "สวนขวา" ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ทรงริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (แต่สร้างสำเร็จเรียบร้อยในสมัยรัชกาลที่ 3) พระปรางค์จะตกแต่งด้วยถ้วยและชามจีนซึ่งทุบให้แตกบ้าง แล้วติดกับฝาทำเป็นลวดลายรูปต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการแกะสลัก ดังจะเห็นได้จากประตูวัดพระเชตพนวิมลมังคลาราม ประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นต้น
รัชกาลที่ 2 โปรดการฟ้อนรำอย่างโบราณของไทยเป็นอันมาก ทั้งโขนและละคร ทรงปรับปรุงจังหวะและท่ารำต่างๆ โดยพระองค์เอง พระองค์โปรดให้มีพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ทั้งที่เป็นเรื่องเดิมและเรื่องใหม่ หรือเอาเรื่องเดิมมาแต่งขึ้นใหม่ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 มีทั้งหมด 7 เรื่อง เรื่อง"อิเหนา" เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เองตลอดทั้งเรื่อง ส่วนอีก 6 เรื่อง โปรดเกล้าฯ ให้กวีท่านอื่นๆ ร่วมงานด้วย

การทำนุบำรุงด้านศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 การผลิตงานทางด้านศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 3 จัดว่ามีลักษณะเยี่ยมยอดในวงการศิลปะของไทยไม่แพ้ในสมัยอื่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงมุ่งซ่อมแซมและปรับปรุงปราสาทมากกว่าจะสร้างใหม่ โดยระมัดระวังรักษาแบบดั้งเดิมเอาไว้ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และขยายเขตวัดวาอารามมากมาย ทรงสร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ขึ้น 5 วัด ให้เชื้อพระวงศ์และขุนนางสร้างอีก 6 วัด วัดสำคัญที่สร้างในสมัยนี้ได้แก่ วัดเทพธิดาราม,วัดราชนัดดา,วัดเฉลิมพระเกียรติ์,วัดบวรนิเวศวรวิหาร,วัดบวรสถาน,วัดประยูรวงศ์,วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น สิ่งก่อสร้างมากมายที่เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมทางศาสนาของไทย เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ พระสถูป พระมลฑป หอระฆัง เป็นต้น โบสถ์และวิหารที่สร้างขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาลาดเป็นชั้น มุงกระเบี้องสี ผนังก่ออิฐถือปูนประดับลวดลาย และมีเสาใหญ่รายรอบรับชายคา โบสถ์ขนาดใหญ่และสวยงามที่สร้างในรัชกาลนี้คือ โบสถ์วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งสร้างแบบสามัญ ส่วนโบสถ์วัดบวรนิเวศวรวิหารสร้างเป็นแบบมีมุขยื่นออกมาทั้งสองข้างทางด้านปลาย
สถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมา คือ พระมณฑป ศาลา หอระฆัง และระเบียงโบสถ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นงานที่ดีที่สุด คือ ระเบียงรอบพระวิหารที่วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งมีหน้าบันแกะสลักไว้อย่างงดงาม

ผลงานทางสถาปัตยกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้ก่อสร้างไว้บริเวณวัด และจัดอยู่ในจำพวกสิ่งก่อสร้างปลีกย่อยคือ เรือสำเภาซึ่งก่อด้วยอิฐ รัชกาลที่ 3 ทรงมีรับสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อว่าในอนาคตเมื่อไม่มีการสร้างเรือสำเภากันอีกแล้ว ประชาชนจะได้แลเห็นว่าเรือสำเภานั้นมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร วัดที่พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างสิ่งอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ คือ "วัดยานนาวา"

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพเขียนแบบไทยต่างๆ ส่วนมากไม่โดดเด่น ที่เขียนขี้นมาส่วนใหญ่เพื่อความมุ่งหมายในการประดับให้สวยงามเท่านั้น ส่วนงานช่างแกะสลักในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางพระพุทธศาสนามากกว่างานช่างในสาขาจิตรกรรม โดยเฉพาะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องบันดาลใจอันสำคัญยิ่งที่ก่อให้เกิดผลงานทางด้านศิลปะประเภทนี้

ทางด้านวรรณกรรม รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนวรรณคดีทางศาสนาและประวัติศาสตร์ ดังเช่น หนังสือเรื่อง "มลินทปัญญา" เป็นต้น แต่ในสมัยนี้ไม่สนับสนุนให้มีการแสดงละครภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งยังไม่โปรดปรานนักแสดงหรือนักประพันธ์คนใดเลย

กล่าวโดยสรุป ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำนุบำรุงและฟื้นฟูทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และการทำนุบำรุงก็กระทำโดยวิธีรักษารูปแบบเดิมไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ผสมผสานเข้าไปด้วย ทำให้ศิลปวัฒนธรรมของไทยในยุคนี้เจริญรุ่งเรืองมาก

กลับหน้าแรก ด้านบน


สภาพสังคมและศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 4

1. การปรับปรุงด้านสังคมในสมัยรัชกาลที่ 4
เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นช่วงที่ไทยเริ่มปรับตัวทางด้านสังคมและวัฒนธรรมให้เข้ากับขนบธรรมเนียมตะวันตกเท่าที่สามารถจะกระทำได้ ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้ากับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา รัชกาลที่ 4 ก็ทรงดำเนินการปรับปรุงทางด้านสังคมควบคู่ไปด้วย ดังนี้

อนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน เพื่อให้บรรดาไพร่ที่มีอยู่ใช้แรงงานของตนไปทำงานส่วนตัวได้
ออกประกาศห้ามบิดามารดาหรือสามีขายบุตรภรรยาไปเป็นทาสโดยที่เจ้าตัวไม่สมัครใจ เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับเด็กและสตรี ถ้าจะต้องถูกบังคับในเรื่องดังกล่าว
ให้สตรีที่บรรลุนิติภาวะแล้วมีสิทธิเลือกสามีได้ โดยบิดามารดาจะบังคับมิได้
อนุญาตให้บรรดาเจ้าจอมกราบถวายบังคมลาไปอยู่ที่อื่น หรือไปแต่งงานใหม่ได้
โปรดเกล้าฯ ให้สตรีในคณะผู้สอนศาสนาคริสต์เข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่สตรีในราชสำนักเป็นเวลาประมาณ 3 ปี
ใน พ.ศ.2408 โปรดเกล้าฯ ให้นางแอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีชาวอังกฤษเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและธิดา โดยตั้งโรงเรียนขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพราะทรงเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการปรับปรุงประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ทรงจัดส่งข้าราชการไปศึกษาและดูงานในต่างประเทศเพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับปรุงบ้านเมืองให้ทันสมัยดังเช่น ทรงส่งหวาด บุนนาค บุตรพระอภัยสงครามไปฝึกหัดวิชาทหารเรือ ส่งเนตร บุตรพระยาสมุทบุรารักษ์ไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศสิงค์โปร์ และส่งพร บุนนาค ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
2. การปรับปรุงทางด้านวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 4 (ยุคปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย)
ภายหลังจากที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริง กับอังกฤษในปี 2398 แล้ว การติดต่อกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับชาติตะวันตกได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวาง ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก บางครั้งก็ทำให้วัฒนธรรมไทยเปลี่ยนแปลงตามแบบตะวันตก แต่บางครั้งก็มีการส่งเสริมให้วัฒนธรรมไทยแต่ดั้งเดิมดำรงอยู่ต่อไป

การส่งเสริมด้านศิลปะ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงเปิดความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่องานทางด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยอยู่บ้าง แต่ในขณะเดียวกัน การทำนุบำรุงและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของไทยก็เพิ่มพูนมากขึ้นไปด้วย

รัชกาลที่ 4 ทรงซื้อและโปรดเกล้าฯ ให้ทำการต่อเรือกลไฟตามแบบตะวันตกหลายลำ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการค้าขาย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เรือจักรสำหรับเป็นเรือพระที่นั่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรับเรือพายพระที่นั่งอันงดงามมาจากรัชกาลก่อนๆ นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือขึ้นอีกลำหนึ่ง โดยพระราชทานนามว่า "อนันตนาคราช" ที่หัวเรือทำเป็นพญานาคเจ็ดเศียร ซึ่งยังคงรักษาเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในพระบรมมหาราชวัง ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกขึ้นใหม่หลายอาคาร ทั้งแบบไทยและแบบฝรั่ง ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ 5 วัดในกรุงเทพ และโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมอีก 20 วัด นอกจากนี้ยังทรงสร้างวัดขึ้นใหม่ในต่างจังหวัดอีกด้วย เช่น ที่เพชรบุรีทรงสร้างวัดแบบไทย แต่พระราชวังที่ประทับซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันกลับสร้างเป็นแบบฝรั่งและมีหอดูดาว ในกรุงเทพฯ ก็ทรงสร้างวังตามแบบศิลปะตะวันตก เช่น วังสราญรมย์ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นี้เอง โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นครอบพระเจดีย์โบราณที่พระองค์เสด็จธุดงค์ไปพบเข้าที่นครปฐมเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ แต่การบูรณะก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์ไม่ประสบผลสำเร็จในรัชกาลนี้ แต่เพิ่งมาประสบผลสำเร็จในรัชกาลที่ 5

3. การเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญ มีดังนี้

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ชาวต่างประเทศเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งไม่เคยปรากฏมาในรัชกาลก่อนๆ กับทั้งยังทรงออกประกาศให้ทราบทั่วกันว่าในการเข้าเฝ้านั้น ชาวต่างประเทศสามารถแสดงความเคารพบต่อพระองค์ได้ตามธรรมเนียมประเพณีนิยมของเขา เช่น ให้ชาวตะวันตกยืนตรงถวายคำนับได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับให้หมอบกราบเหมือนดังที่พวกฑูตฝรั่งต้องปฏิบัติตอนเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงแก่ชาวต่างประเทศ พร้อมทั้งแจกของที่ระลึกอีกด้วย สำหรับคนไทยนั้นยังคงโปรดเกล้าฯ ให้หมอบกราบตอนเข้าเฝ้าต่อไปตามประเพณีนิยมเดิมของไทย แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลง คือ ทรงออกประกาศให้ข้าราชการสวมเสื้อในเวลามาเข้าเฝ้าทุกคน ทั้งนี้เพื่อมิให้ชาวต่างประเทศดูถูกข้าราชการไทยที่ไม่สวมเสื้อว่าเป็นคนป่าเถื่อนดังแต่ก่อน
การเรียกพระนามพระมหากษัตริย์ตามแบบยุโรป รัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงวางระเบียบการเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินให้แน่นอนตามประเพณีนิยมของยุโรป ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากประเพณีโบราณ พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จารึกใพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 ว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดี" เหมือนกันทุกพระองค์ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระนามตามพระนามเดิมก่อนขึ้นครองราชย์ โดยให้จารึกพระสุพรรณบัฏเมื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยตั้งต้นว่า "พระบามสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์และลงท้ายว่า "พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งคำว่า "จอม" ก็มีความหมายมาจากคำว่า "มงกุฏ" เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ราษฏรเรียกพระนามซ้ำกันแต่ก่อน ประเพณีการเรียกพระนามพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์อย่างแน่นอนลงไปเป็นการเฉพาะพระองค์เช่นนี้ ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามประเพณีเดิม พระมหากษัตริย์จะประทับเป็นองค์ประธาน และให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นผู้ถือน้ำ และสาบานตนว่า จะซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ริเริ่มให้มีการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรม คือ ให้พระมหากษัตริย์เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และกระทำสัตย์ด้วยว่าจะทรงซื่อสัตย์ต่อราษฏรของพระองค์
การจัดให้มีธงประจำชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแบบอย่างการใช้ธงประจำชาติจากสถานกงสุลและเรือพาณิชย์ของชาติต่างๆ ในประเทศไทย พระองค์จึงทรงเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีธงประจำชาติและธงอื่นๆ ด้วย จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำธงสีแดงที่เคยใช้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาใช้ โดยใช้พื้นธงเป็นสีแดงล้วนและมีช้างเผือกยืนอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐ์ธงประจำองค์พระมหากษัตริย์และธงประจำกองทัพขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น